อารยธรรม

    หลักฐานทางโบราณคดีบริเวณหนองหาร จังหวัดสกลนคร เป็นจังหวัดที่อยู่ในภาคอีสานตอนบน ในบริเวณที่เรียกว่า “แอ่งสกลนคร” โดยมีแนวเทือกเขาภูพานเป็นแนวยาวทางทิศเหนือ ทิศตะวันตก และทิศใต้ มีพื้นที่ราบอยู่ทางทิศตะวันออกลาดเอียงเข้าสู่ชายฝั่งแม่น้ำโขง สกลนครจึงนับว่าเป็นแหล่งที่มีความอุดมสมบูรณ์ จึงเป็นแหล่งอาศัยของมนุษย์มาหลายยุคหลายสมัย ต่อเนื่องมานับตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ ดังปรากฎหลักฐานทางโบราณคดีที่สำคัญ เช่น ภาพสลักผาหินที่ถ้ำผายล หรือ ถ้ำผาลาย ถ้ำพระด่านแร้ง และภาพเขียนสีก่อนประวัติศาสตร์ที่ถ้ำผักหวาน นอกจากนี้ยังปรากฎหลักฐานเกี่ยวกับภาชนะเครื่องใช้ เครื่องปั้นดินเผาต่างๆ ตลอดจนเครื่องสำริด และเครื่องโลหะ ซึ่งจากหลักฐานเครื่องมือเครื่องใช้ของคนก่อนประวัติศาสตร์ที่พบในจังหวัดสกลนครนี้เชื่อว่ามีอายุร่วมสมัยเดียวกันกับวัฒนธรรมบ้านเชียง และนอกจากนี้ยังปรากฏหลักฐานทางด้านโบราณคดีจำนวนมากตั้งแต่สมัยทวารวดีโดยมีการพบใบเสมาหิน พระพุทธรูปสมัยทวารวดีกระจายอยู่ทั่วไปซึ่งอยู่ราวพุทธศตวรรษที่ 15 – 16 ซึ่งได้รับอิทธิพลศิลปะจากขอมเช่นปราสาทพระธาตุนารายณ์เจงปราสาทพระธาตุภูเพ็ก ปราสาทบ้านพินนา ศิลาจารึกอักษรขอมที่วัดพระธาตุเชิงชุมวรวิหารจากประวัติและหลักฐานความเป็นมาของจังหวัดสกลนครดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าชุมชนโบราณในบริเวณพื้นที่นี้มีการทิ้งร้างไม่อยู่ระยะหนึ่งจนกระทั่งในช่วงพุทธศตวรรษที่ 19 เป็นต้นมาจนถึงพุทธศตวรรษที่ 24 ชุมชนนี้จึงได้รับอิทธิพลพุทธศาสนาและมีการอพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานอีกครั้งหนึ่ง