แอ่งอารยธรรมริมหนองหาร

ยุคก่อนประวัติศาสตร์

    ลุ่มน้ำสงครามตอนบน ถึงบริเวณที่ราบลุ่มรอบหนองหารหลวงเป็นพื้นที่ราบลุ่มมีลำน้ำสายต่างๆหล่อเลี้ยงตลอดปี และมีหนองหารซุ่งเป็นหนองน้ำขนาดใหญ่ ที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือ บริเวณดังกล่าวเป็นแหล่งเกลือสำคัญ ทรัพนากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ดังกล่าวได้ก่อให้เกิดชุมชนยุคก่อนประวัติศาสตร์ที่รู้จักกันในนาม “วัฒนธรรมบ้านเชียง” ซึ่งเป็นวัฒนธรรมที่มีอายุตั้งแต่ช่วงยุคเหล็กตอนต้นมาจนถึงยุคเหล็กตอนปลาย
    ชุมชนยุคแรกๆอยู่ในเขตบ้านโกย บ้านผักตบ อำเภอเมือง และในเขตตำบลบ้านเชียง อำเภอหนองหาน จังหวัดอุดรธานี ต่อมาชุมชนเริ่มขยายตัวไปยังบริเวณที่ราบลุ่มทางตอนเหนือของหนองหาน กุมภวาปีในลุ่มน้ำปาว จังหวัดอุดรธานี และในเขตอำเภอสว่างแดนดิน จนถึง อำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร จนอาจกล่าวได้ว่าพื่นที่ลุ่มน้ำสงครามตอนบนนั้นคือ แหล่งวัฒนธรรมบ้านเชียง และตอมา ชุมชนได้ขยายตัวเข้าสู่บริเวณหนองหานกุมภวาปีในลุ่มน้ำปาว (จังหวัดอุดรธานี ปัจจุบัน) และหนองหารหลวง ในลุ่มน้ำก่ำ (จังหวัดสกลนคร ปัจจุบัน)
    จากการขุดค้นทางโบราณคดี พบว่าเมื่อประมาณหมื่นปีที่ผ่านมา มนุษย์ในบริเวณนี้ใช้เครื่องมือตัดหรือสับเป็นแบบเดียวกันกับเครื่องมือหินหยาบที่ใช้ในยุโรป ประชากรยังมีจำนวนน้อยและใช้เครื่องมือที่ทำจากหิน กระดูก และดินเผา เช่น ภาชนะดินเผาลายเขียนสีแบบต่างๆ ซึ่งเป็นลักษณะและรูปแบบของโบราณวัตถุที่พบในแหล่งโบราณคดีบ้านเชียง และภาชนะดินเผาเชือกทาบ
    จนกระทั่งอีกประมาณ 1,000 ปีต่อมา จึงเรื่มนำทองแดงมาทำเครื่องมือ เช่น ขวานทองแดง และยังพบว่าชุมชนแถบนี้มีความรู้เรื่องการทำสำริด เครื่องใช้และสิ้งประดิษฐ์อื่นๆ เช่น กำไล ลูกปัด
    แหล่งโบราณคดียุคบ้านเชียงที่พบในจังหวัดสกลนครเป็นแหล่งขนาดใหญ่ และมีร่องรอยของโบราณวัตถุที่สะท้อนให้เห็นความสำคัญของแหล่งนั้นๆ เช่น โครงกระดูกของคนยุคก่อนประวัติศาสตร์นี้ มีอายุไม่ต่ำกว่า 3,500 ปีก่อนพุทธศักราช เป็นชุมชนที่เก่าแก่ที่สุดในยุคก่อนประวัติศาสตร์ , เครื่องปั้นดินเผา เนื้อเรียบ ลายขูดขีด ลายเชือกทาบ หรือลายเขียนสี , เครื่องมือเครื่องใช้ที่เปลี่ยนจากหิน มาใช้เครื่องมือโลหะผสมแบบสำริด