ลักษณะทางกายภาพ

    หนองหาร จังหวัดสกลนคร เป็นบึงธรรมชาติขนาดใหญ่ มีพื้นที่ประมาณ 77,016 ไร่ หรือ 123 ตารางกิโลเมตร ในอำเภอเมือง และอำเภอโพนนาแก้ว จังหวัดสกลนคร มีลำห้วยไหลมารวมกันหลายสาย และเป็นต้นน้ำของลำน้ำก่ำ ไหลลงสู่แม่น้ำโขง ชาวบ้านที่มีพื้นท่ีโดยรอบหนองหารจะประกอบอาชีพทางการเกษตรเป็นส่วนใหญ่ และมีชุมชนเมืองติดกับหนองหาร อิทธิพลของหนองหารส่งผลต่อการดำรงชีวิตของประชาชนในพื้นที่ถึง 32 ตำบล อยู่ในเขตจังหวัดสกลนคร 12 ตำบล และจังหวัดนครพนม 20 ตำบล เป็นพื้นที่ทั้งสิ้นรวม 1,671 ตร.กม. หรือ 1,044,375 ไร่ ประชากรที่ใช้ประโยชน์จากหนองหาร มีทั้งสิ้น 240,327 คน จาก 80,750 ครัวเรือน

ขนาดและอาณาเขตติดต่อของหนองหาร

    หนองหารตั้งอยู่ที่เส้นรุ้งที่ 107 องศา 6 ลิปดาเหนือ และกับเส้นแวงที่ 104 องศา 8 ลิปดาตะวันออก ถึง 104 องศา 18 ลิปดาตะวันออก สูงจากระดับน้ำทะเลเฉลี่ยปานกลาง ประมาณ 158 เมตร ความกว้าง ประมาณ 7 กิโลเมตร ความยาวประมาณ 18 กิโลเมตรเป็นแหล่งทรัพยากรธรรมชาติอันควรอนุรักษ์ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2532 ขนาดพื้นที่หนองหารหากอ้างตามพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตหวงห้ามที่ดิน พุทธศักราช 2484 ที่กำหนดไว้ให้เพื่อใช้บำรุงพันธ์ุสัตว์น้ำ จะมีเนื้อที่ประมาณ 110,000 ไร่ และ ตามหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง สำหรับที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินประเภทพลเมืองใช้ร่วมกัน พุทธศักราช 2540 จะมีเนื้อที่ 77,016 ไร่ หรือ 123 ตารางกิโลเมตร (ชมรมส่งเสริมคนดีเมืองสกลนคร, 2558) โดยที่บริเวณผิวน้ำครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 46,000 ไร่ หรือ 73.6 ตารางกิโลเมตร อาณาเขตติดต่อของหนองหาร (ทศพล จตุระบุล และ กอบเกียรติ ผ่องพุฒิ, 2555) มีดังนี้

ทิศเหนือ ติดต่อกับ ตำบลท่าแร่ อำเภอเมืองสกลนคร จังหวัดสกลนคร

ทิศใต้ ติดต่อกับ ตำบลงิ้วด่อน ตำบลเหล่าปอแดง อำเภอเมืองสกลนคร จังหวัดสกลนคร

ทิศตะวันออก ติดต่อกับ ตำบลบ้านแป้น ตำบลนาแก้ว ตำบลนาตงวัฒนา ตำบลโพนนาแก้ว อำเภอเมืองสกลนคร จังหวัดสกลนคร

ทิศตะวันตก ติดต่อกับ ตำบลธาตุเชิงชุม ตำบลธาตุนาเวง ตำบลเชียงเครือ ตำบลฮางโฮง อำเภอเมืองสกลนคร จังหวัดสกลนคร

ลักษณะที่ต้ังและอาณาเขตติดต่อของหนองหาร จังหวัดสกลนคร

ลักษณะของลุ่มน้ำ

    เมื่อมองในภาพรวมของลุ่มน้ำ ลุ่มน้ำหนองหารมีลักษณะเป็นลุ่มน้ำรูปผสม (Complexed basin) ระหว่างลุ่มน้ำรูปขนาน (Parallel basin) และลุ่มน้ำรูปขนนก (Featherlike basin) มีลักษณะเรียวยาวในส่วนต้นน้ำ ซึ่งรับน้ำจากลุ่มน้ำพุง การเกิดน้ำท่วมในลุ่มน้ำที่มีลักษณะเรียวยาวแบบขนนกนี้จะมีปริมาณน้ำค่อนข้างต่ำ ส่วนตอนท้ายหรือตอนล่างของลุ่มน้ำหนองหารเป็นลุ่มน้ำรูปขนานที่มีพื้นที่ลุ่มน้ำแยกเป็น 2 ส่วนและมาบรรจบกันในตอนล่างหรือด้านท้ายน้ำ บริเวณทางออกสู่ลำน้ำก่ำ ซึ่งทำให้มีโอกาสเกิดน้ำท่วมบริเวณจุดบรรจบของลำน้ำ นอกจากนี้ ลุ่มน้ำหนองหารยังมีทิศด้านลาดเทหันไปทางทิศตะวันออก ถึงทิศตะวันออกเฉียงใต้ ทำให้ได้รับพลังงานจากดวงอาทิตย์และลมมรสุมเป็นอย่างดี (ทศพล จตุระบุล และ กอบ เกียรติ ผ่องพุฒิ, 2555)
    ลุ่มน้ำหนองหาร มีพื้นที่ประมาณ 364,375 ไร่ หรือ 583 ตารางกิโลเมตร ลุ่มน้ำพุงมีพื้นที่ประมาณ 66,8701 ไร่ หรือ 1,070 ตารางกิโลเมตร ในขณะที่ลุ่มน้ำห้วยน้ำก่ำ ซึ่งเป็นตอนล่างของหนองหาร มีพื้นที่ประมาณ 1,116,875 ไร่ หรือ 1,787 ตารางกิโลเมตร (ทศพล จตุระบุล และ กอบเกียรติ ผ่องพุฒิ 2555)
ลักษณะลุ่มน้ำหนองหาร จังหวัดสกลนคร ลุ่มน้ำพุง และลุ่มน้าห้วยน้ำก่ำ
    หนองหาร มีความลึกเฉลี่ย 3-6 เมตร ครอบคลุมพื้นที่ 77,016 ไร่ หรือ 123 ตารางกิโลเมตร ใน 13 ตำบล หนองหารรับน้ำมาจากลำน้ำทั้งสิ้น 21 สายแต่สายที่สำคัญและมีอิทธิพลมากที่สุดคือ ลำน้ำพุง และไหลออกจากหนองหารผ่านประตูระบายน้ำสุรัสวดี รวมกับปริมาณน้ำบางส่วนที่ไหลลงมาจากห้วยน้ำพุง กลายเป็นน้ำก่ำและไหลลงสู่แม่น้ำโขงที่จังหวัดนครพนม หนองหารต้ังอยู่ในลุ่มน้ำสาขาห้วยน้ำก่ำ และรับน้ำเพิ่มเติมจากลุ่มน้ำสาขาห้วยน้ำพุง โดยลักษณะทางชลศาสตร์ของท้ังสองลุ่มน้ำ มีดังต่อไปนี้
    1) ลุ่มน้ำห้วยน้ำก่ำ มีพื้นที่ลุ่มน้ำ 2,678.20 ตร.กม. หรือ 1,673,877.26 ไร่ มีแนวสันปันน้ำความสูง ประมาณ 300 ม.รทก. เป็นแนวแบ่งเขตระหว่างลุ่มน้ำย่อยลำน้ำก่ำ กับลุ่มน้ำย่อยลำน้ำพุง ลุ่มน้ำย่อยแม่น้ำโขง ส่วนที่ 8 และลุ่มน้ำย่อยห้วยชะโนดในจังหวัดสกลนคร ทางทิศเหนือและทิศตะวันตกของลุ่มน้ำเป็นต้นกำเนิดของลำน้ำบังและน้ำก่ำ พื้นที่ลุ่มน้ำตอนบนเป็นภูเขาสูงที่ลาดชันและลดหลั่นเป็นเนินสูง ตอนกลางเป็นที่ราบถึงลูกคลื่นลอนลาด ตอนล่างเป็นที่ที่ค่อนข้างราบถึงราบเรียบ ครอบคลุมพื้นที่ 2 จังหวัด คือ สกลนคร นครพนม มีลุ่มน้ำสาขา 6 ลุ่มน้ำ คือ ลำน้ำก่ำส่วนที่ 1 ลำน้ำก่ำส่วนที่ 2 ลำน้ำบังตอนบน ลำน้ำบังตอนล่าง ลำน้ำก่ำส่วนที่ 3 และลำน้ำก่ำส่วนที่ 4 (กรมทรัพยากรน้ำ, 2557 และ สสนก, 2559)
    ลำน้ำสาขา ได้แก่ ลำน้ำบัง ลำน้ำห้วยแคน และลำน้ำพุง โดยลุ่มน้ำสาขาห้วยน้ำก่ำมีแหล่งน้ำต้นทุนที่สำคัญ คือ หนองหาร ลำน้ำก่ำเริ่มจากหนองหาร อำเภอเมือง จังหวัดสกลนคร ผ่านอำเภอโคกศรีสุพรรณ แล้วไหลไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้จนถึงแม่น้ำโขงที่ตำบลน้ำก่ำ อำเภอธาตุพนม จังหวัดนครพนม รวมความยาวประมาณ 123 กิโลเมตร สภาพภูมิประเทศมีความลาดเทจากด้านทิศตะวันตกไปทางด้านทิศตะวันออกความลาดเทจากหนองหานไปถึงบริเวณอำเภอนาแก มีค่าเท่ากับ 1:4,000 และความลาดเทจากอำเภอนาแกไปถึงปากน้ำก่ำที่จุดบรรจบแม่น้ำโขง มีค่าเท่ากับ 1:5,000 มีพื้นที่รับน้ำฝนประมาณ 3,440 ตารางกิโลเมตร ปริมาณน้ำเฉลี่ยรายปี ประมาณ 1,400 ล้านลูกบาศก์เมตร พื้นที่บริเวณสองฝั่งของลำน้ำส่วนใหญ่เป็นที่นา มีหมู่บ้านตั้งกระจายอยู่บริเวณตามเนินตลอดลำน้ำ นอกจากนี้ ยังมีหนองบึงธรรมชาติจำนวนมากช่วงปลายลำน้ำมีสภาพเป็นที่ลุ่มน้ำท่วมถึงเป็นประจำ ในฤดูฝนจะเกิดปัญหาอุทกภัย ส่วนในฤดูแล้งในลำน้ำจะมีปริมาณน้ำน้อยทำให้การนำน้ำขึ้นมาใช้ประโยชน์ทำได้ยาก จึงมักเกิดภาวการณ์ขาดแคลนน้ำเพื่อการเกษตร และอุปโภค-บริโภคของราษฎร
    2) ลุ่มน้ำห้วยน้ำพุง มีพื้นที่ลุ่มน้ำ 836.54 ตร.กม. หรือ 522,837.24 ไร่ แนวสันปันน้ำความสูงประมาณ 300 – 500 ม.รทก. เป็นแนวแบ่งเขตระหว่างลุ่มน้ำย่อยน้ำพุงกับลุ่มน้ำย่อยห้วยน้ำอูน ลุ่มน้ำย่อยห้วยน้ำก่ำ และลุ่มน้ำย่อยห้วยบางทรายจังหวัดสกลนคร อยู่ทางทิศเหนือและทิศตะวันตกของลุ่มน้ำเป็นต้นกำเนิดของลุ่มน้ำพุง พื้นที่ลุ่มน้ำตอนบนเป็นภูเขาสูง ที่ลาดชันและลดหลั่นเป็นเนินสูง ตอนกลางถึงตอนล่างเป็นที่ราบถึงลูกคลื่นลอนลาด ครอบคลุมพื้นที่จังหวัดสกลนคร มีลุ่มน้ำสาขา 2 ลุ่มน้ำ คือ น้ำพุงตอนบน และน้ำพุงตอนล่าง
    ลำน้ำพุง ต้นน้ำเกิดในเขตอำเภอกุดบาก มีสภาพลาดชันในช่วงต้นน้ำไหลผ่านท้องที่อำเภอกุดบากลงสู่เขื่อนน้ำพุงของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ความจุ 165 ล้านลูกบาศก์เมตร จากน้ันไหลผ่านอำเภอเต่างอย อำเภอโคกศรีสุพรรณ และอำเภอเมืองสกลนคร แล้วไหลลงหนองหาร
ขอบเขตพื้นที่ศึกษาลุ่มน้ำ

ลำน้ำไหลเข้าสู่หนองหาร

    ในเดือนสิงหาคม ดร.พีระ ลิ่วลม สมาชิกชมรมส่งเสริมคนดีเมืองสกลได้สังเคราะห์ข้อมูลเกี่ยวกับลำน้ำไหลเข้าสู่หนองหารจากเอกสารต่างๆและการเดินสำรวจ สรุปได้ว่าหนองหารเป็นแอ่งท่ีเกิดข้ึนจากแนวลาดหลายแนวประกอบกัน จากภาพจะเห็นได้ว่าแนวลาดที่เป็นต้นกำเนิดลำห้วยส่วนใหญ่มาจากภูพานด้านทิศใต้ แบ่งเป็น กลุ่มน้ำตามแนวลาด คือ กลุ่มน้ำที่มีแนวลาดเดียวกับน้ำพุง กลุ่มน้ำท่ีมีแนวลาดเดียวกับห้วยเดียก กลุ่มน้ำที่มีแนวลาดเดียวกับห้วยทราย และกลุ่มน้ำที่มีแนวลาดต่อจากพื้นที่ชลประทานน้ำอูนท่ีอ้อมเชิงเขาภูพานผ่านที่ราบไหลลงหนองหาร ทั้งนี้ลำห้วยที่มาจากภูพานมักมีปลายทางที่อยู่รายเรียงใกล้เคียงกัน สำหรับแนวลาดด้านทิศเหนือ เป็นเนินที่ไม่ลาดชันมากนัก ต่อเนื่องไปถึงลำน้ำโขงปลายทางของลำห้วยท่ีมาจากแนวลาดด้านทิศเหนือจึงอยู่ค่อนข้างกระจัดกระจาย

หากแบ่งลำห้วยเป็นกลุ่มตามพื้นที่ปลายน้ำที่ไหลลงหนองหาร สามารถแบ่งออกเป็น 6 กลุ่มดังนี้

    กลุ่มที่ 1 ประกอบด้วยห้วยทราย ห้วยโมง และห้วยสมอ เป็นห้วยที่มีขนาดใกล้เคียงกันจากแนวลาดภูพานที่ไม่ลาดชันมากนัก จึงเหมาะสำหรับการตั้งถิ่นฐานบ้านเรือนลำห้วยกลุ่มนี้จึงผ่านเขตชุมชนเมืองหนาแน่นก่อนไหลลงหนองหาร โดยจุดที่ระบายน้ำเสียหลักจากเขตเมืองมากที่สุดคือจุดที่เป็นบ่อบำบัดน้ำเสียรวมของเทศบาลนครสกลนคร ซึ่งเดิมคือ ห้วยหนองทรายขาว/ห้วยนาหลุม แต่ปัจจุบันคือปลายทางระบบระบายน้ำรวมของเมืองสกลนคร
    กลุ่มที่ 2 มีลำห้วยจำนวนมากที่อยู่ในแนวลาดนี้ โดยหากนับลำห้วยที่มีปลายทางลงหนองหารประกอบด้วย ห้วยเดียก ห้วยเฮ ห้วยวังช้าง ห้วยนาแก และห้วยแก้ง โดยมีลำห้วยสาครที่มาจากแนวลาดอื่น (แนวลาดเดียวกับน้ำพุง) แต่มีปลายน้ำเข้าหนองหารในบริเวณเดียวกันนี้ ท้ังนี้ลำน้ำคำที่ถูกเขตเมืองขยายรุกออกมาได้หมดสภาพการเป็นลำน้ำไปแล้ว เช่นเดียวกับลำน้ำคำน้อยที่ใกล้หมดสภาพเช่นเดียวกัน สำหรับลำห้วยที่สัมพันธ์กันสูงในกลุ่มนี้ โดยมีปลายน้ำไหลไปรวมกับลำห้วยอื่นก่อนไม่ได้ไหลลงหนองหารโดยตรง ประกอบด้วย (1) ห้วยอ่าง ห้วยเคลิ้ม ห้วยเรือ ที่มาจากอ่างเก็บน้ำขนาดเล็ก 3 แห่งที่ไหลรวมกับห้วยเดียกก่อนไหลลงหนองหาร (2) ห้วยนายอ ที่มีขนาดใกล้เคียงกับห้วยนาแก แต่มีปลายทางไหลรวมกับห้วยนาแกก่อนไหลลงหนองหาร และ (3) ห้วยแล้ง ที่มีความยาวพอสมควร แต่มีปลายทางไหลรวมกับห้วยแก้งก่อนไหลลงหนองหาร
    กลุ่มที่ 3 มีต้นกำเนิดมาจากลำน้ำสายที่ยาวและใหญ่ที่สุดที่ไหลลงหนองหารคือลำน้ำพุงประกอบด้วยลำน้ำพุง (สายหลักยาวประมาณ 110 กิโลเมตร) ลำน้ำพุงหลง (ที่แยกไปไหลลงใกล้ประตูน้ำก่ำ) และลำน้ำพุงน้อย ซึ่งใกล้หมดสภาพและเส้นทางน้ำเริ่มการขาดช่วง แต่ยังเห็นร่องรอยทางน้ำที่ไหลไปตามเส้นทางเก่า
    กลุ่มที่ 4 เป็นกลุ่มห้วยขนาดเล็กมาจากทิศเหนือโดยไหลลงหนองหารใกล้ประตูน้ำก่ำแถบบริเวณบ้านแป้น ประกอบด้วยห้วยเฮือและซ่งน้ำพุเป็นแหล่งน้ำหลัก โดยมีห้วยขนาดเล็กมากคือ ฮ่องเชียงหุนไหลลงหนองหารใกล้ๆ ห้วยเฮือ และมีห้วยปาดะที่มีขนาดใหญ่แต่ไม่ยาวมากนักเข้ามารวมกับซ่งน้ำพุก่อนไหลลงหนองหาร
    กลุ่มที่ 5 ต้นน้ำของกลุ่มห้วยนี้มาจากอำเภอกุสุมาลย์ ซึ่งเป็นอำเภอที่มีลำห้วยและอ่างเก็บน้ำจำนวนมาก รวมทั้งมีลำน้ำอูนไหลผ่านก่อนลงน้ำโขง แต่ลำน้ำที่ไหลลงหนองหารประกอบด้วยห้วยหลักคือ ห้วยลอง ห้วยหนองแฮ (ห้วยทุ่งแร่) และห้วยม่วง
    ห้วยม่วง เดิมไหลลงหนองหารน้อยซึ่งเป็นพื้นที่หนึ่งของหนองหารแต่ปัจจุบันลำห้วยม่วงสายเดิมถูกรุกด้วยเขตเกษตรกรรมและที่อยู่อาศัยจนมีสภาพน่าเป็นห่วงแต่ปริมาณน้ำที่ไหลลงหนองหาร ณ จุดน้ีมีการทดแทนด้วยลำห้วยอีกสายด้านทิศเหนือของหนองหารน้อย
    สำหรับห้วยที่มีความสัมพันธ์กันสูงกับห้วยในกลุ่มนี้ได้แก่ ห้วยหนองน้ำพุก ห้วยวังน้อยและห้วยลองน้อยที่ไหลรวมกับห้วยลองก่อนไหลลงหนองหาร ทั้งนี้ห้วยลองน้อยที่ตำบลนาแก้วเดิมทีมีสาขามากมาย แต่ปัจจุบันเขตเมืองมีการขยายตัวจนมีแขนงสาขาของห้วยที่เริ่มลดลงเห็นชัดเจนแค่สายหลักของห้วยลองน้อย ซึ่งบางส่วนไหลขนานแนวถนนเป็นระยะทางยาวก่อนไหลรวมกับห้วยลอง
    กลุ่มที่ 6 มีห้วยลากเป็นลำน้ำหลัก และเป็นปลายทางของลำห้วยหลายสายที่ไหลลงหนองหาร โดยห้วยกลุ่มนี้มีความสัมพันธ์กับพื้นที่ชลประทานน้ำอูนเป็นอย่างสูง เช่น ห้วยลากที่ไหลผ่านพื้นที่ชลประทานดาวล้อมเดือนที่อยู่รอบมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ นอกจากนี้ยังมีลำห้วยเก่าในพื้นที่ชลประทานที่มีปริมาณน้ำมากพอควร ยาวประมาณเกือบ 4 กิโลเมตร ไหลลอดถนนแล้วเลียบถนนไปอีกประมาณ 700 เมตร รวมกับห้วยตาอินทร์ (ซึ่งช่วงปลายเรียกว่าห้วยคลอง) โดยลำห้วยต่อกันทั้งหมดมีความยาวรวม 8.5 กิโลเมตรก่อนรวมกับห้วยลากไหลลงสู่หนองหาร
 
    ทางน้ำในกลุ่มนี้ที่สำคัญอีกสายก็คือคลองระบายน้ำเสียน้ำล้นจากการเกษตรในพื้นที่ชลประทานน้ำอูนที่เป็นคลองการเกษตรยาวลอดถนนสกลนคร-นครพนมบริเวณตำบลฮางโฮงจากนั้นขนาดคลองมีการขยายจนสามารถใช้เรือสัญจรได้ถึงหนองหาร

รายชื่อลำน้ำที่ไหลลงสู่หนองหาร

  1. ห้วยโมง มีความยาว 12.00 กิโลเมตร อยู่ที่สันเนินบ้านหนองบัวทอง หมู่ที่ 11 ต.ห้วยยาง และบ้านดงขุมข้าว ต.พังขว้าง อ.เมืองสกลนคร ไหลลงหนองหารบริเวณข้างเขตการทางสกลนคร เทศบาลนครสกลนคร
  2. ห้วยทราย มีความยาว 18.00 กิโลเมตร อยู่ที่ยอดเนินภูเขียวเขตบ้านหนองยาง หมู่ที่ 5 และบ้านโนนสมบูรณ์ต.พังขว้าง อ.เมืองสกลนคร ไหลลงหนองหารบริเวณบ้านหนองบัวใหญ่ เทศบาลนครสกลนคร
  3. ห้วยสมอ มีความยาว 20.00 กิโลเมตร อยู่ที่หนองสนม บ้านดงยอ และบ้านหนองปลาดุก ต.พังขว้าง อ.เมืองสกลนคร ไหลลงหนองหารบริเวณระหว่างบ้านหนองบัวใหญ่กับบ้านดอนเสาธง ต.ธาตุเชิงชุม อ.เมืองสกลนคร
  4. ห้วยลาก มีความยาว 12.00 กิโลเมตร อยู่ที่สันเนินบ้านโนนศาลา หมู่ที่ 12 และบ้านหนองหอย ต.เชียงเครือ อ.เมืองสกลนคร ไหลลงหนองหารบริเวณบ้านดอนเชียงคูณ ต.เชียงเครือ อ.เมืองสกลนคร
  5. ห้วยม่วง มีความยาว 8.00 กิโลเมตร อยู่ที่สันเนินบ้านโคกสว่าง หมู่ที่ 9 และมก.ฉกส. ต.เชียงเครือ อ.เมืองสกลนคร ไหลลงหนองหารบริเวณระหว่างบ้านดอนเชียงบาน ต.เชียงเครือ กับบ้านท่าแร่ อ.เมืองสกลนคร
  6. ห้วยหนองแฮ่ มีความยาว 6.00 กิโลเมตร อยู่ที่สันเนินบ้านพะโค หมู่ที่ 2 ต.ท่าแร่ อ.เมืองสกลนคร ไหลลงหนองหารบริเวณบ้านท่าแร่ ต.ท่าแร่ อ.เมืองสกลนคร
  7. ห้วยลองน้อย มีความยาว 4.50 กิโลเมตร อยู่ที่สันเนินบ้านนาแก้ว หมู่ที่ 1 ต.นาแก้ว อ.โพนนาแก้ว ไหลลงหนองหารมาจรดห้วยลองที่บ้านนาแก้ว อ.โพนนาแก้ว
  8. ห้วยลอง มีความยาว 14.00 กิโลเมตร อยู่ที่สันเนินบ้านใหม่หนองผือ หมู่ที่ 8 ต.นาแก้ว อ.โพนนาแก้ว ไหลลงหนองหารบริเวณบ้านโพนงานท่า อ.โพนนาแก้ว
  9. ห้วยเฮือ (ห้วยเหือ) มีความยาว 4.50 กิโลเมตร อยู่ที่สันเนินบ้านซ่งน้ำพุ หมู่ที่ 4 ต.บ้านแป้น อ.โพนนาแก้ว ไหลลงหนองหารบริเวณบึงสูตร บ้านบัวประชาราษฎร์ ต.บ้านแป้น อ.โพนนาแก้ว
  10. ห้วยน้ำพุลหลง มีความยาว 20.00 กิโลเมตร อยู่ที่ลำน้ำพุง บ้านเหล่าละโมง หมู่ที่ 7 ต.ดงชน อ.เมืองสกลนคร ไหลลงหนองหารบริเวณบ้านหนองเอี่ยน ต.โคกก่อง อ.เมืองสกลนคร
  11. ห้วยน้ำพุงน้อย มีความยาว 7.00 กิโลเมตร อยู่ที่ลำน้ำพุง ช่วงบ้านป่าแพง หมู่ที่ 9 ต.ดงชน อ.เมืองสกลนคร ไหลลงหนองหารบริเวณบ้านดอนยางทิศเหนือ ต.เหล่าปอแดง อ.เมืองสกลนคร
  12. ลำน้ำพุง มีความยาว 110.00 กิโลเมตร อยู่ที่ภูเขียว ภูศิลา เขาใหญ่ ภูฮัง ภูหนองม้า เทือกเขาภูพาน ไหลผ่านเขื่อนน้ำพุง อ.ภูพาน อ.เต่างอย อ.โคกศรีสุพรรณ และ อ.เมืองสกลนคร ไหลลงหนองหารบริเวณบ้านดอนยาง ต.เหล่าปอแดง อ.เมืองสกลนคร
  13. ห้วยสองคอน (ห้วยทะเล) มีความยาว 9.00 กิโลเมตร อยู่ที่หนองทามไฮ บ้านทามไฮ หมู่ที่ 5 ต.ดงชน อ.เมืองสกลนคร ไหลลงหนองหารบริเวณบ้านกกส้มโฮง ต.เหล่าปอแดง อ.เมืองสกลนคร
  14. ห้วยแก้ง มีความยาว 17.00 กิโลเมตร อยู่ที่สันเนินบ้านเหล่านกยูง หมู่ที่ 6 บ้านหนองไผ่ ต.ดงมะไฟ อ.เมืองสกลนคร ไหลลงหนองหารบริเวณบ้านหนองปลาน้อย ต.เหล่าปอแดง อ.เมืองสกลนคร
  15. ห้วยนาแก มีความยาว 11.00 กิโลเมตร อยู่ที่สันเนินบ้านดงขวาง หมู่ที่ 3 บ้านนาเลา ต.ดงมะไฟ อ.เมืองสกลนคร ไหลลงหนองหารบริเวณบ้านดอนจ้อก้อ ต.งิ้วด่อน อ.เมืองสกลนคร
  16. ห้วยวังช้าง มีความยาว 4.00 กิโลเมตร อยู่ที่บริเวณบ้านกกกอก ต.งิ้วด่อน อ.เมืองสกลนคร ไหลลงหนองหารบริเวณบ้านงิ้วด่อน (ทิศใต้) อ.เมืองสกลนคร
  17. ห้วยเฮ (หรือแฮ) มีความยาว 4.00 กิโลเมตร อยู่ที่ที่นาบ้านกกกอก ต.งิ้วด่อน อ.เมืองสกลนคร ไหลลงหนองหารบริเวณบ้านงิ้วด่อน (ทิศเหนือ) อ.เมืองสกลนคร
  18. ห้วยเดียก + ห้วยกุดจาน มีความยาว 27.00 กิโลเมตร อยู่ที่ภูเขียวเขตบ้านหนองแฝกพัฒนา หมู่ที่ 14 และ บ้านนาค้า ต.ห้วยยาง อ.เมืองสกลนคร ไหลลงหนองหารบริเวณระหว่างบ้านธาตุดูมกับบ้านงิ้วด่อน อ.เมืองสกลนคร
  19. ห้วยน้ำคำ มีความยาว 4.50 กิโลเมตร อยู่ที่ลำห้วยเดียก ช่วงบ้านนาแก – นาอ้อย เทศบาลนครสกลนคร ไหลลงหนองหารบริเวณบ้านธาตุดูม (ทิศใต้) เทศบาลนครสกลนคร
  20. ห้วยน้ำคำน้อย มีความยาว 6.00 กิโลเมตร อยู่ที่ลำห้วยเดียก ช่วงบ้านโนนสะอาด ชุมชนธาตุเชิงชุม ไหลลงหนองหารบริเวณบ้านธาตุดูม (ทิศเหนือ) เทศบาลนครสกลนคร
  21. ห้วยหนองทรายขาว มีความยาว 3.50 กิโลเมตร อยู่ที่สันเนินชุมชนหนองทรายขาว ชุมชนธาตุเชิงชุม ไหลลงหนองหารบริเวณบ่อบำบัดน้ำเสีย เทศบาลนครสกลนคร

การเก็บกักน้ำ

    เขตพื้นที่ผิวน้ำและปริมาณน้ำในหนองหารขึ้นอยู่กับระดับกักเก็บน้ำที่แตกต่างกัน ซึ่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ได้ทำการสำรวจหน้าตัดหนองหาร ความลึกของท้องน้ำ และทำแผนที่ท้องน้ำ นำไปคำนวณพื้นที่ผิวน้ำและความจุน้ำของหนองหาร พบว่าระดับกักเก็บปกติที่ประตูน้ำสุรัสวดี ที่ระดับ 157 เมตร จาก ระดับน้ำทะเลปานกลาง จะมีพื้นที่ผิวน้ำ 133.7 ตารางกิโลเมตร และมีความจุน้ำ 267 ล้านลูกบาศก์เมตร

เกาะดอนในหนองหาร

    การศึกษาโดยการใช้ภาพถ่ายดาวเทียม Landsat-4, 5 และ 8 ระบบ Multispectral พบว่า เกาะดอน ในหนองหาร มีจำนวนอย่างน้อย 21 ดอน โดยมีดอนสวรรค์เป็นดอนที่มีขนาดใหญ่ที่สุด (567 ไร่) และมีดอนสะคราม (304 ไร่) ดอนสะนาง (236 ไร่) และดอนทรายโพธ์ิ (99 ไร่) มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 2 3 และ 4 ตามลำดับ
เกาะดอนในหนองหาร มีจำนวนอย่างน้อย 21 ดอน
    เกาะดอนที่กระจายอยู่ในหนองหารหลวง จังหวัดสกลนคร ที่ภาพถ่ายดาวเทียมสามารถบันทึกข้อมูลได้น้ัน มีอย่างน้อย 21 ดอน โดยมีดอนสวรรค์เป็นดอนที่มีขนาดใหญ่ที่สุด (566.54 ไร่) ขณะท่ีดอนตาลมีขนาด เล็กที่สุด (2.37 ไร่) ในจำนวนเกาะดอนทั้งหมด 21 เกาะดอน ซึ่งสามารถอ้างอิงชื่อเกาะได้เกือบทั้งหมด เหลือเพียง 3 ดอนที่ยังไม่สามารถระบุชื่อได้ ซึ่งผลการศึกษานี้ เกาะดอนที่ภาพถ่ายดาวเทียมสามารถ บันทึกได้น้ันอาจเป็นเกาะดอนที่เกิดใหม่ ท่ีเกิดจากกองสนุ่น หรืออาจมีมานานแล้วแต่ไม่ได้มีการบันทึกให้มีความถูกต้อง
แผนที่ภาพถ่ายดาวเทียมระบุที่ตั้งของเกาะดอนต่างๆ ในหนองหาร จ.สกลนคร
ข้อมูลเชิงบรรยาย (attribute data) ของเกาะดอนต่างๆ ในหนองหาร จ.สกลนคร

แผนที่การใช้ประโยชน์ที่ดิน โดยรอบหนองหาร

รายละเอียดของการใช้ที่ดินในแต่ละประเภท มีดังนี้

(1) ป่าดิบแล้ง เป็นป่าธรรมชาติที่พบเพียงเล็กน้อยมีเนื้อที่ 175.38 ไร่ หรือร้อยละ 0.06 ของพื้นที่ศึกษา โดยพบอยู่บนเกาะดอนสวรรค์ใหญ่ในพื้นที่เขตหนองหาร 156.66 หรือร้อยละ 0.21 ของพื้นที่เขตหนองหาร

(2) ป่าเต็งรัง เป็นป่าธรรมชาติที่พบมากที่สุดในพื้นที่ พบกระจายอยู่ทั่วไป บางบริเวณมีสภาพที่เสื่อมโทรม และบางส่วนมีการใช้ประโยชน์ในพื้นที่เพื่อการทำการเกษตรของราษฎร การใช้ที่ดินรูปแบบนี้ มีเนื้อที่ 28,794.97 ไร่ หรือร้อยละ 9.39 ของพื้นที่ศึกษา โดยพบในเขตหนองหาร 550.73 หรือร้อยละ 0.74 ของพื้นที่เขตหนองหาร

(3) ป่าละเมาะ มีลักษณะเป็นป่าไม้พุ่มเตี้ย ต้นไม่ใหญ่มากนัก พบเป็นหย่อมเล็กๆ พบอยู่ในเขตพื้นที่ หนองหาร เนื้อที่รวม 31.14 ไร่ หรือร้อยละ 0.04 ของพื้นที่เขตหนองหาร

(4) ไม้ยืนต้นผสม มีลักษณะเป็นพื้นที่ใช้ประโยชน์ใกล้แหล่งที่อยู่อาศัยมีไม้ยืนต้นให้ร่มหลากชนิดปะปนกัน และมีไม้ผลบ้างเล็กน้อย มีเนื้อที่ 3,378.08 ไร่ หรือร้อยละ 1.10 ของพื้นที่ศึกษา โดยพบอยู่ในขอบเขตของพื้นที่หนองหาร 187.14 ไร่ หรือร้อยละ 0.25 ของพื้นที่เขตหนองหาร

(5) สวนไม้ผล เป็นพื้นที่เกษตรกรรมที่ปลูกไม้ผล เช่น มะม่วง มะละกอ กล้วย เป็นต้น มีเนื้อที่ 691.92 ไร่ หรือร้อยละ 0.23 ของพื้นที่ศึกษา แต่ไม่พบในเขตพื้นที่หนองหาร

(6) นาข้าว เป็นพื้นที่เกษตรกรรมที่พบมากที่สุดในพื้นที่ มีเนื้อที่ 167,468.52 ไร่ หรือ ร้อยละ 54.60 ของพื้นที่ศึกษา โดยพบอยู่ในขอบเขตของพื้นที่หนองหาร 6,866.41 ไร่ หรือร้อยละ 9.25 ของพื้นที่เขตหนองหาร

(7) พื้นที่เกษตรกรรมอื่นๆ มีเนื้อที่ 14,177.60 ไร่ หรือ ร้อยละ 4.62 ของพื้นที่ศึกษา แต่พบอยู่ในพื้นที่หนองหาร 1,456.42 ไร่ หรือร้อยละ 1.96 ของพื้นที่เขตหนองหาร

(8) พื้นที่ลุ่มน้ำท่วมขัง เป็นบริเวณที่ลุ่มติดกับหนองหารที่มีน้ำท่วมขังเกือบตลอดปีโดยช่วงฤดูฝนน้ำจะท่วมสูงมาก ไม่สามารถใช้ประโยชน์พื้นที่ได้ ในช่วงปลายฤดูฝนบางส่วนของพื้นที่จะถูกใช้เพื่อปลูกข้าว มีเนื้อที่รวม 634.15 ไร่ หรือร้อยละ 0.21 ของพื้นที่ศึกษา โดยอยู่ในเขตพื้นที่หนองหาร 630.40 ไร่ หรือร้อยละ 0.85 ของพื้นที่เขตหนองหาร

(9) พื้นที่น้ำท่วมถึง/วัชพืช เป็นพื้นที่บริเวณรอบหนองหารลักษณะน้ำท่วมถึงพื้นที่ส่วนใหญ่ปกคลุมไปด้วยวัชพืชต่างๆ มีเนื้อที่ 16,421.45 ไร่ หรือร้อยละ 5.35 มีพบอยู่ในพื้นที่เขตหนองหาร 14,625.10 ไร่ หรือร้อย ละ 19.70 ของพื้นที่เขตหนองหาร

(10) สถานที่เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ มีเนื้อที่ 1,813.26 ไร่ หรือร้อยละ 0.59 ของพื้นที่ศึกษา พบอยู่ในเขตของพื้นที่หนองหาร 77.39 ไร่ หรือร้อยละ 0.10 ของพื้นที่เขตหนองหาร

(11) พื้นที่รกร้าง ลักษณะเป็นพื้นที่ที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ ถูกปล่อยรกร้าง มักปกคลุมไปด้วยหญ้าและไม้พุ่มเตี้ย มีเนื้อที่ 1,578.39 ไร่ หรือร้อยละ 0.51 ของพื้นที่ศึกษา พบอยู่ในเขตของพื้นที่หนองหาร 1,578.39 ไร่ หรือ ร้อยละ 2.13 ของพื้นที่เขตหนองหาร

(12) พื้นที่โล่ง เป็นพื้นที่ลานดินว่างเปล่า หรือมีหญ้าปกคลุมเล็กน้อย มีเนื้อที่ 1,185.76 ไร่ หรือร้อยละ 0.39 ของพื้นที่ศึกษา อยู่ในเขตของพื้นที่หนองหาร 548.85 ไร่ หรือร้อยละ 0.74 ของพื้นที่เขตหนองหาร

(13) อาคารสิ่งก่อสร้าง เป็นย่านที่อยู่อาศัย สถานที่ราชการ ย่านการค้า มีเนื้อที่รวมกัน 15,079.78 ไร่ หรือร้อยละ 4.92 ของพื้นที่ศึกษา มีพบอยู่ในพื้นที่เขตหนองหาร 283.98 ไร่ หรือร้อยละ 0.38 ของพื้นที่เขตหนองหาร

(14) โรงงาน เป็นการใช้ที่ดินเพื่อการผลิตหรืออุตสาหกรรมขนาดหย่อมนอกเขตเมือง มีเนื้อที่ 361.99 ไร่ หรือร้อยละ 0.12 ของพื้นที่ศึกษา โดยอยู่ในเขตพื้นที่เขตหนองหาร 4.03 ไร่ หรือร้อยละ 0.01 ของพื้นที่เขตหนองหาร

(15) ท่าอากาศยาน เป็นบริเวณสนามบิน มีเนื้อที่ 199.49 ไร่ หรือร้อยละ 0.07 ของพื้นที่ศึกษา แต่ไม่พบ ในพื้นที่โครงการฯ

(16) สนามกีฬา มีเนื้อที่ 178.50 ไร่ หรือร้อยละ 0.06 ของพื้นที่ศึกษา ไม่ปรากฏในพื้นที่โครงการฯ

(17) แนวถนน มีเนื้อที่ 4,987.42 หรือร้อยละ 1.63 ของพื้นที่ศึกษา พบในพื้นที่เขตหนองหาร 234.87 ไร่ หรือร้อยละ 0.32 ของพื้นที่เขตหนองหาร

(18) สันเขื่อน เป็นบริเวณฝายล้นน้ำมีเนื้อที่ 2.64 ไร่ อยู่ในเขตพื้นที่เขตหนองหาร

(19) บ่อพักน้ำ เป็นพื้นที่เพื่อการบำบัดปรับสภาพน้ำ มีเนื้อที่ 523.84 ไร่ หรือร้อยละ 0.17 ของพื้นที่ศึกษา โดยส่วนใหญ่อยู่ในเขตหนองหาร เนื้อที่ 428.09 ไร่ หรือร้อยละ 0.58 ของพื้นที่เขตหนองหาร

(20) แหล่งน้ำ ท้ังที่เป็นแหล่งน้ำขนาดใหญ่คือ หนองหาร และแหล่งน้ำอื่นๆ มีเนื้อที่รวม 48,774.99 ไร่ หรือร้อยละ 15.90 ของพื้นที่ศึกษา พบอยู่ในพื้นที่เขตหนองหาร 46,583.37 ไร่ หรือร้อยละ 62.74 ของพื้นที่เขตหนองหาร

(21) พื้นที่อื่นๆ นอกเหนือจากรูปแบบการใช้ที่ดินข้างต้น มีเนื้อที่รวมกัน 242.32 ไร่ หรือร้อยละ 0.08 ของพื้นที่ศึกษา ไม่มีอยู่ในเขตหนองหาร