ประวัติเมืองหนองหาร

ขอมโบราณ สมัยเจนละ

    ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 14-18 วัฒนธรรมเจนละ (ขอมโบราณ) เริ่มแพร่กระจายอยู่ทั่วดินแดนลุ่มน้ำโขง บริเวณเมืองสกลนครถูกผนวกเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรขอม ดังปรากฏหลักฐานสำคัญ ได้แก่ การสร้างเมืองโบราณริมหนองหารหลวงสกลนคร ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 16 รวมทั้งการสร้างศาสนาสถานในแบบปราสาทขอมและการสร้างสะพานหิน โดยเฉพาะสมัยพระเจ้าสุริยวรมันที่ 1 (ครองราชย์ พ.ศ. 1545-1593) ดังปรากฏ “เส้นทางสายปราสาทขอม” เริ่มตั้งแต่อำเภอพิมาย จังหวัดนครศรีธรรมราช ในเขตแอ่งโคราช ในเขตอีสานใต้ ตั้งแต่จังหวัด สุรินทร์ บุรีรัมย์ ศรีสะเกษ ส่วนในแอ่งสกลนครเขตอีสานตอนเหนือในเขตจังหวัดสกลนคร เริ่มต้นที่พระธาตุดุมสะพานหินโบราณ พระธาตุเชิงชุม (ในสมัยขอมสร้างเป็นปราสาทศิลาแลง) ปราสาทนารายณ์เจงเวง ปราสาทภูเพ็ก สิ้นสุดที่อโรคยา ศาสปราสาทบ้านพันนา อำเภอสว่างแดนดิน “เส้นทางปราสาทขอม” ยังเชื่อมต่อไปถึงเมืองศรีเทพ จังหวัดเพชรบูรณ์ พระปรางค์สามยอด จังหวัดลพบุรี ปราสาทเมืองสิงห์ จังหวัดกาญจนบุรี สิ้นสุดที่จังหวัดสุโขทัย

เมืองโบราณริมหนองหาร

    ในด้านศาสนสถาน สกลนครมีศาสนสถานทั้งที่เป็นปราสาท พระธาตุ หลักศิลาจารึกหลายแห่ง บ่งบอกให้เห็นถึงความเคารพนับถือลัทธิต่างๆ เช่น พุทธศาสนามหายาน ลัทธิฮินดู (พราหมณ์) แสดงถึงความอิสระเสรีในการนับถือศาสนา ลัทธิ โดยไม่ถูกบีบบังคับ ซึ่งได้ปรากฏศาสนสถาน และโบราณสถานที่สำคัญหลายๆแห่ง อาทิเช่น วัดแดนโมกษาวดี บ้านพานพัฒนา เป็นแหล่งที่พบหลักฐานการทำแท่นรูปเคารพแกะด้วยหินทรายจำนวนมาก แท่นรูปเคารพเหล่านี้อาจเป็นแท่นโยนีโธรณะเพื่อบูชาศิวลึงค์ ตามลัทธิไศวนิกาย หรือปักบูชาเทวรูปพระพุทธรูปในลัทธิมหายาน วัดพุทธไสยาสน์ บ้านค้อเชียว อำเภอวาริชภูมิ เป็นแหล่งที่พบศิลาจารึกอักษรขอมโบราณ อายุระหว่างพุทธศตวรรษที่ 15-16 สลักไว่ในแผ่นเสมาหิน ข้อความกล่าวถึงการสร้างหนทาง ในวันเสาร์ ขึ้น 8 ค่ำ เดือน 5 ปีมะโรง ข้อความดังกล่าวแสดงหลัดฐานการมีศาสนสถานในพุทธศาสนานิกายมหายาน
    จากหลักฐานด้านศาสนสถานและศิลาจารึกภาษาขอมทั้ง 2 หลักนี้ ทำให้สรุปได้ว่าอิทธิพลขอมได้เข้ามาสู่สกลนครมานานแล้ว และมีอำนาจทางการเมือง ทางวัฒนธรรมอย่างมากในช่วงพุทธศตวรรษที่ 15-16 โดยเฉพาะพุทธศตวรรษที่ 17 เป็นช่วงที่อิทธิพลของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 (พ.ศ. 1724-1761) ได้แผ่ขยายเข้ามาในบริเวณหนองหารหลวงเข้าสู่เวียงจันทร์ นอกจากนี้ การที่พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ทรงนับถือพุทธศาสนานิกายมหายาน จึงทำให้พุทธศาสนาเจริญรุ่งเรือง มีการสร้างวัดตามเนินเขา นักโบราณคดีบางคนมีความเห็นว่าโบราณสถานหลายแห่งในสกลนครน่าจะสร้างในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 แต่เมื่อสิ้นรัชสมัยของพระองค์ อำนาจการปกครองเสื่อมและวัฒนธรรมแบบขอมก็เสื่อมถอย บางแห่งสร้างไม่แล้วเสร็จ

เมืองโบราณริมหนองหารสกลนคร

    เมืองโบราณริมหนองหารสกลนคร เจริญรุ่งเรืองในสมัยพุทธศตวรรษที่ 16 สมัยพระเจ้าสุริยวรมันที่ 1 (ครองราชย์ พ.ศ. 1545-1593) แสดงถึงอิทธิพลวัฒนธรรมขอมอย่างเด่นชัด จากการวางผังเมืองเป็นรูปสี่เหลี่ยม มีคูเมืองล้อมรอบ ภายในเขตกำแพงเมืองมีศาสนสถานศักดิ์สิทธิ์ คือ พระธาตุเชิงชุม (องค์เดิมเป็นปรางค์แบบขอม ต่อมาสมัยล้านช้างมีการสร้างพระธาตุคอรบไว้) มีสระน้ำ (สระพังทอง) และข้างพรัธาตุ มีบ่อน้ำหรือที่เรียกว่า “ภูน้ำลอด” หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า “น้ำกลางหาว” ซึ่งมีน้ำใสสะอาดตลอดปี และมีทางน้ำไหลสู่สระพังทอง “ภูน้ำลอด” เคยเป็นแหล่งน้ำที่หล่อเลี้ยงชุมชนในเขตเมืองสกลนครมาโดยตลอด ก่อนมีระบบประปาใช้อย่างปัจจุบัน

    ส่วนทิศเหนือของพระธาตุเชิงชุมเป็นที่ตั้งของพระธาตุนารายณ์เจงเวง ซึ่งมีสระน้ำขนาดเล็ก (บาราย) ตั้งอยู่ติดกับพระธาตุ ภายในคูเมืองเก่ามี “ถนนโบราณ” ปรากฏเหลือเป็นหลักฐานแนวสะพานหินขอมเป็นสะพานศิลาแลง ปัจจุบันเหลือความยาวเพียง 16 เมตร กว้าง 4 เมตร สูง 3 เมตร มีบันไดขึ้นลง 2 ทางสร้างขึ้นประมาณพุทธศตวรรษที่ 18 ใช้เป็นเส้นทางสัญจรสมัยโบราณ จัดเป็นสะพานที่เก่าแก่ที่สุดเหลืออยู่เพียงแห่งเดียวในประเทศไทย
 
 
    จากพุทธศตวรรษที่  17 หนองหารสกลนคร ได้พัฒนาสู่การเป็นเมืองใหญ่ในแอ่งสกลนคร (คู่กับเมืองพิมายในแอ่งโคราช) เนื่องจากเป็นเมืองที่คุมเส้นทางที่จะติดต่อไปยังฝั่งทะเลเวียดนาม (จามปา) โดยใช้เส้นทางจากหนองหาร ผ่านลำน้ำก่ำ สู่แม่น้ำโขง สู่ฝั่งลาว เดินทางต่อไปตามลำน้ำเซบั้งไฟ ตัดผ่านข้ามภูเขาไปเวียดนาม เกิดเป็นเส้นทางการค้าสำคัญในเขตลุ่มน้ำโขง

เมืองเชียงใหม่หนองหาร

สมัยล้านช้าง
    เจ้าฟ้างุ้ม ได้สถาปนาอาณาจักล้านช้างใน พ.ศ. 1896 หลังจากรวบรวมลาวให้เป็นปึกแผ่นแล้ว ได้เจริญสัมพันธไมตรีกับพระเจ้าลิไทแห่งกรุงสุโขทัยและสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 โดยได้ตกลงแบ่งอาณาเขตล้างช้างกับอยุธยา ตามแนวภูเขาดงพระยาพ่อ (ดงพระยาไฟ ปัจจุบันคือ ภูเขาดงพญาเย็น) และภูสามเส้า (ภูเข้าเพชรบูรณ์)
    พระธาตุเชิงชุม ศาสนสถานศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองได้รับการดัดแปลงให้มีเอกลักษณ์ศิลปะล้านช้าง โดยสร้างพระสถูปเจดีย์ หรือ “ธาตุ” ครอบทรงปราสาทแบบขอมที่มีอยู่เดิม องค์พระธาตุตกแต่งด้วยบัวย่อเป็นเหลี่ยม แบบเดียวกับพระธาตุพนม อำเภอธาตุพนม จังหวัดนครพนม
    กษัตริย์ล้านช้าง ได้ทำนุบำรุงพระธาตุเชิงชุมมาโดยตลอดดังหลักฐานศิลาจารึกที่กษัตริย์ล้านช้างได้สร้างอุทิศที่ดินแก่วัดวาอารามจำนวนมาก และได้กล่าวถึงนามเมืองว่า “เมืองเชียงใหม่หนองหาร” ดังเช่นที่ระบุไว้ในศิลาจารึกวัดบ้านริมท่าวัด ตำบลชนดง อำเภอเมืองสกลนคร ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 19-20 นี้ “เมืองเชียงใหม่หนองหาร” มีความสำคัญในฐานะศูนย์กลางของอาณาจักรศรีโคตรบูร (มีอาณาเขตครอบคลุมสองฝั่งแม่น้ำโขงในเขตอีสานของไทยและลาว) เมืองเชียงใหม่หนองหารยังเป็นตัวกลางรับอารยธรรมทวารวดีจากเมืองฟ้าแดดสงยางในลุ่มน้ำปาว (ปัจจุบันตั้งอยู่ในจังหวัดกาฬสินธุ์) สู่เวียงจันทน์ซึ่งเป็นศูนย์กลางของอาณาจักรศรีโคตรบูรในแดนลาว

เมืองสกลนครทวาปี

สมัยรัชกาลที่ 1
พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก
    โปรดเกล้าฯให้อุปฮาดเมืองกาฬสินธุ์ พาครอบครัวและไพร่พลมาตั้งถิ่นฐานที่บ้านธาตุเชิงชุม เพื่อเป็นข้ารักษาพระธาตุฯ ต่อมาโปรดเกล้าฯให้ยกบ้านธาตุเชิงชุมเป็นเมือง “สกลนครทวาปี” เมื่อ พ.ศ. 2329 และตั้งให้อุปฮาดเมืองกาฬสินธุ์เป็น “พระธานี” เจ้าเมืองสกลนครทวาปีคนแรก

เมืองสกลนคร

สมัยรัชกาลที่ 3
พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว
    หลังการปราบกบฏเจ้าอนุวงศ์ กองทัพไทยได้กวาดต้อนผู้คนที่ประกอบด้วย กลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ได้แก่ โย้ย ญ้อ ข่า โส้ กะเลิง มาฝั่งไทย บางส่วนของผู่ที่ถูกกวาดต้อนมาให้มีหน้าที่รักษาพระธาตุเชิงชุม
    ปี พ.ศ. 2381 พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯโปรดเกล้าฯให้เปลี่ยนนามเมืองสกลนครทวาปีเป็น “เมืองสกลนคร” และแต่งตั้งให้ราชวงศ์(คำ) เป็นพระยาประเทศธานี เป็นเจ้าเมืองสกลนครคนแรก

การปฏิรูปการปกครอง

สมัยรัชกาลที่ 5
พระบาทสมเด็จพระจุฃจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
    โปรดเกล้าฯให้มีการปฏิรูปการปกครองหัวเมืองในภาคอีสาน เพื่อป้องกันภัยคุกคามจากฝรั่งเศสโดยการยกเลิกอำนาจการปกครองแบบล้านช้าง คือ อาญาสี่ ประกอบด้วย ตำแหน่งการปกครองสูงสุดลงไปต่ำสุด ได้แก่ เจ้าเมือง อุปฮาด ราชวงศ์และราชบุตร มาเป็นแบบเทศาภิบาล และส่งเชื้อพระวงศ์ชั้นผู้ใหญ่มาเป็นข้าหลวงต่างพระองค์

จาก “เมืองสกลนคร” สู่ “จังหวัดสกลนคร”

สมัยรัชกาลที่ 6
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
    ได้มีการเปลี่ยนคำว่า “เมือง” มาเป็นคำว่า “จังหวัด” และโปรดเกล้าฯให้สร้างสนามบินแห่งแรกในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว มีการเปลี่ยนแปลงชื่อตำแหน่งของเจ้าเมือง มาเป็น ผู้ว่าราชการจังหวัด เมื่อ 1 มีนาคม 2474

จุดเริ่มต้นของ “เมืองใหม่”

    ชุมชนขยายตัวจากเดิมบริเวณริมถนนเจริญเมือง และถนนสุขเกษม เปลี่ยนจากตึกดินและบ้านไม้เป็นอาคารพาณิชย์ ตั้งแต่ พ.ศ. 2479 ชุมชนเทศบาลเมืองสกลนครขยายตัว เริ่มจากบริเวณวัดกลาง และลานโพธิ์ (ปัจจุบันคือตลาดสดศรีคูณเมืองและที่ตั้งของโรงแรมเจริญสุข) ขยายสู่ทิศเหนือ จรดเขตหนองหารสกลนคร ทิศใต้จดถนนคูเมือง (คูเมืองเก่า) ทิศตะวันตกจดห้วยโมง ติกับสะพานหิน ทิศตะวันออกจดหนองหารสกลนคร
ต่อมาในพ.ศ. 2535
    เขตเทศบาลเมืองสกลนครขยายตัวออกไปตามการขยายตัวของชุมชนเมือง มีอาณาเขตทิศเหนือ จดหนองการสกลนคร และรวมถึงดอนสวรรค์ ทิศตะวันออกจดหนองหารสกลนคร และรวมถึงดอนสวรรค์ตัดตรงเข้ามายังพระธาตุดุม ทิศใต้จดห้วยเดียก บ้านนาอ้อย ตำบลธาตุเชิงชุม อำเภอเมืองสกลนคร และทิศตะวันตกจดบ้านพังขว้าง ตำบลพังขว้าง อำเภอเมืองสกลนคร

ที่มา : พิพิธภัณฑ์ภูพาน จังหวัดสกลนคร