สรุปผลการศึกษา

    การติดตามสถานภาพสิ่งแวดล้อมทางน้ำ การเปลี่ยนแปลงตามฤดูกาล และความสัมพันธ์กับทรัพยากรชีวภาพทางน้ำ ในพื้นที่ศึกษาหนองหาร จังหวัดสกลนคร ผลการศึกษาในเดือนมิถุนายนและตุลาคม 2559 และเดือนกุมภาพันธ์และมิถุนายน 2560 พบว่า หนองหารมีคุณภาพน้ำอยู่ในระดับปานกลาง และในบางพื้นที่พบว่าคุณภาพน้ำอยู่ในระดับแย่ถึงพอใช้เท่านั้น โดยมีปริมาณออกซิเจนละลายน้ำที่ต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐานคุณภาพน้ำที่เหมาะสมต่อการดำรงชีวิตของสัตว์น้ำ ในเดือนมิถุนายน 2560 พบว่าปริมาณออกซิเจนละลายน้ำมีระดับต่ำมากในหลายพื้นที่เนื่องเข้าสู่ฤดูฝนซึ่งมีการไหลหลากของน้ำ และน้ำทิ้งจากแหล่งกำเนิดต่างๆ ไหลลงสู่หนองหาร ซึ่งแนวทางในการป้องกันแก้ไขปัญหาคุณภาพน้ำ ควรเริ่มต้นจากสาเหตุได้แก่ การบำบัดน้ำทิ้งจากครัวเรือนและโรงงานอุตสาหกรรมก่อนปล่อยลงสู่สาธารณะ รวมทั้งการทำเกษตรกรรมโดยลดการใช้สารเคมีและสารกำจัดศัตรูพืชลง ซึ่งการทำเกษตรอินทรีย์เป็นทางเลือกใหม่ที่จะช่วยให้ธาตุอาหาร รวมทั้งของเสียต่างๆ ไหลลงสู่หนองหารน้อยลง
    คุณภาพดินตะกอนพื้นท้องน้ำพบว่ามีความแตกต่างกันออกไปตามลักษณะของพื้นที่ ได้แก่ 1) พื้นที่ที่พื้นท้องน้ำเป็นกรวดทรายหรือทรายละเอียด จะพบสารอินทรีย์ในปริมาณต่ำและไม่พบปัญหาเกี่ยวกับก๊าซไฮโดรเจนซัลไฟด์ที่เป็นพิษต่อสิ่งมีชีวิต และ 2) พื้นที่ที่พื้นท้องน้ำเป็นดินโคลนเหลวละเอียด มีซากพรรณไม้น้ำปกคลุมพื้นท้องน้ำอย่างหนาแน่น จะพบสารอินทรีย์ในปริมาณมากและเกิดก๊าซไฮโดรเจนซัลไฟด์จากการกระบวนการย่อยสลายสารอินทรีย์ โดยเฉพาะพื้นที่บ้านแป้น มีการสะสมของสารอินทรีย์สูงมากตลอดทั้งปีและมีระดับก๊าซไฮโดรเจนซัลไฟด์ที่ค่อนข้างสูง จึงควรเป็นพื้นที่ที่เฝ้าระวังปัญหามลพิษในดินตะกอนที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต แนวทางการแก้ไขปัญหาควรเน้นไปที่การเก็บเกี่ยวแหล่งของสารอินทรีย์ที่สะสมได้แก่พรรณไม้น้ำที่มีอยู่อย่างหนาแน่นออกจากพื้นที่ หรือการขุดลอกในบางบริเวณเพื่อให้พื้นท้องน้ำสัมผัสกับออกซิเจนที่แพร่จากบรรยากาศลงมาได้
    ในด้านปริมาณคลอโรฟิลล์ เอ สะท้อนให้เห็นความอุดมสมบูรณ์ในด้านกำลังผลิตขั้นต้นในแหล่งน้ำในระดับปานกลางถึงสูง เช่นเดียวกับปริมาณแพลงก์ตอนพืชที่พบความหลากหลายทางชนิดที่มาก โดยสาหร่ายสีเขียวในกลุ่มเดสหมิดเป็นกลุ่มเด่นที่พบได้ปริมาณมากในทุกพื้นที่ ความหนาแน่นของปริมาณแพลงก์ตอนพืชในช่วงฤดูน้ำหลากจะมีมากกว่าในช่วงฤดูแล้งเนื่องจากในช่วงที่ฝนตกจะมีปริมาณธาตุอาหารที่จำเป็นในการเติบโตของแพลงก์ตอนพืชลงสู่หนองหารอย่างต่อเนื่อง สำหรับแพลงก์ตอนสัตว์พบกลุ่มของโรติเฟอร์และโคพีพอดซึ่งเป็นอาหารของสัตว์น้ำหลายชนิด โดยมีการแพร่กระจายในทุกพื้นที่และมีปริมาณมาก ความชุกชุมของแพลงก์ตอนพืชและสัตว์ซึ่งเป็นอาหารในระบบนิเวศเหล่านี้สามารถพบได้มากในพื้นที่ซึ่งมีน้ำนิ่ง ความลึกของน้ำไม่มากและมีแสงแดดเพียงพอ ซึ่งเป็นลักษณะทางกายภาพทั่วไปของหนองหาร ยกเว้นบริเวณลำห้วยทางออกสู่หนองหารของลำน้ำพุง ซึ่งมีน้ำไหลตลอดปีทำให้มีลักษณะทางสัณฐานและอุทกวิทยาที่ไม่เหมาะกับแพลงก์ตอนส่วนมากที่พบในพื้นที่อื่นๆ
    ผลการศึกษาสัตว์พื้นท้องน้ำและสัตว์ที่อาศัยเกาะอยู่ตามพรรณไม้น้ำ แสดงให้เห็นว่าทรัพยากรชีวภาพของแหล่งน้ำหนองหารยังคงมีอยู่ในแต่ละพื้นที่ ถึงแม้จะมีความหลากหลายไม่มากนัก แต่เป็นทรัพยากรทางน้ำที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ทั้งทางตรงและทางอ้อม เช่น กุ้งฝอย หอยสองฝา เป็นต้น การพบหนอนริ้นน้ำจืดและไส้เดือนน้ำจืดเป็นชนิดเด่นแสดงให้เห็นว่าหนองหารมีปริมาณสารอินทรีย์สะสมอยู่อย่างมากในบริเวณพื้นท้องน้ำ และหากมีการทับถมสะสมอยู่เรื่อยๆ อาจทำให้เกิดความเสื่อมโทรมลงของระบบนิเวศพื้นท้องน้ำ และส่งผลกระทบแพร่ขยายสู่คุณภาพน้ำที่อยู่ด้านบนต่อไปในอนาคต
    ทรัพยากรปลาที่สำรวจได้ส่วนใหญ่เป็นชนิดพันธุ์ที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจ แต่ความหลากหลายทางชนิดที่พบในแต่ละสถานีโดยภาพรวมถือว่าค่อนข้างต่ำถึงปานกลางเท่านั้น มีเพียงบางพื้นที่พบพรรณปลาหลากหลายชนิด เช่น ส่วนที่เชื่อมต่อกับลำน้ำพุง อย่างไรก็ตามด้วยความเฉพาะเจาะจงของเครื่องมือประมงที่ใช้ในการสำรวจศึกษา อาจต้องรวบรวมข้อมูลปฐมภูมิและข้อมูลทุติยภูมิเพื่อจัดทำบทสรุปที่มีความครอบคลุมในทุกรูปแบบการทำประมง
    จากการศึกษาครั้งนี้พบว่าลักษณะทางกายภาพของพื้นที่มีอิทธิพลอย่างมากต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรทางน้ำ ทำให้เกิดความแตกต่างในเชิงคุณภาพและปริมาณของทรัพยากรในแต่ละพื้นที่ นอกจากนี้ปัจจัยด้านฤดูกาลและอุทกวิทยาของแหล่งน้ำ เป็นปัจจัยอีกด้านซึ่งส่งให้เกิดการเปลี่ยนแปลงด้านคุณภาพน้ำ รวมทั้งชนิดและปริมาณของทรัพยากรชีวภาพต่างๆ ในรอบปีที่ศึกษา อย่างไรก็ตาม การศึกษาวิจัยด้านสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรทางน้ำนั้น ควรใช้เวลาในการศึกษาติดตามเป็นเวลาอย่างน้อย 3 ปีขึ้นไป เพื่อให้ทราบถึงสถานภาพปัจจุบันและเห็นทิศทางแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจากอิทธิพลของปัจจัยแวดล้อมต่างๆ ซึ่งแน่นอนว่าในอนาคตข้างหน้าสถานการณ์การใช้ประโยชน์ทั้งในและโดยรอบแหล่งน้ำหนองหารย่อมมีมากขึ้นจากประชากรที่เพิ่มขึ้นและการขยายของชุมชนเมือง ทั้งนี้ องค์ความรู้ นวัตกรรม และแนวทางเพื่อการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและทรัพยากรทางน้ำที่เกิดขึ้นจากผลการวิจัยทั้งหมดที่ผ่านมาในอดีตและปัจจุบัน ควรมีการบูรณาการนำมาใช้ประโยชน์ในการรักษาแหล่งน้ำหนองหารเอาไว้อย่างทันท่วงที เพื่อให้แหล่งน้ำอันเป็นเส้นเลือดหล่อเลี้ยงจังหวัดสกลนครแห่งนี้อยู่คู่กับลูกหลานชาวสกลนครสืบต่อไป