แพลงก์ตอนสัตว์

แพลงก์ตอนสัตว์

    แพลงก์ตอนสัตว์เป็นกลุ่มสิ่งมีชีวิตที่ไม่สามารถสร้างอาหารเองได้ จึงถือเป็นผู้บริโภคลำดับที่หนึ่ง หรือเป็นผู้ผลิตลำดับที่สองต่อจากแพลงก์ตอนพืช แพลงก์ตอนสัตว์มีทั้งประเภทที่เป็นแพลงก์ตอนถาวรตลอดชีวิต เช่น แมงกะพรุน หรือเป็นแพลงก์ตอนชั่วคราวซึ่งล่องลอยในน้ำเพียงช่วงใดช่วงหนึ่งของชีวิตเท่านั้น ได้แก่ ตัวอ่อนของสัตว์น้ำ แพลงก์ตอนสัตว์ถือเป็นอาหารที่สำคัญของสัตว์น้ำ ทำให้ห่วงโซ่อาหารในระบบนิเวศมีความสมบูรณ์ รวมทั้งมนุษย์ก็บริโภคโดยตรงด้วย เช่น กะปิเคย เป็นต้น
    ผลการศึกษาแพลงก์ตอนสัตว์ตลอดระยะเวลาศึกษา พบแพลงก์ตอนสัตว์ทั้งหมด 3 ไฟลัม (Phylum) 4 ชั้น (Class) 10 อันดับ (Order) 26 วงศ์ (Family) 46 สกุล (Genus) รายละเอียดดังตารางที่ 8

แพลงก์ตอนสัตว์ที่พบในบริเวณหนองหาร

Arcella

Arcella

Difflugia

Difflugia

Centropyxis

Centropyxis

Brachionus-2

Brachionus

Plationus

Plationus

Keratella

Keratella

Trichotria

Trichotria

Anuraeopsis

Anuraeopsis

Colurella

Colurella

Lecane

Lecane

Trichocerca

Trichocerca

Asplanchna

Asplanchna

Ascomorpha

Ascomorpha

Polyarthra

Polyarthra

Filinia

Filinia

Hexarthra

Hexarthra

Bosmina

Bosmina

Chydorus

Chydorus

Alona

Alona

Macrothrix

Macrothrix

Moina

Moina

Calanoid copepod

Calanoid copepod

Cyclopoid copepod

Cyclopoid copepod

Copepod nauplii

Copepod nauplii

    แพลงก์ตอนสัตว์กลุ่มเด่นที่สุดในทุกฤดูกาล ได้แก่ โรติเฟอร์ ซึ่งมีทั้งชนิดและปริมาณมากที่สุด โดยเฉพาะสกุล Keratella และสกุล Polyarthra และแพลงก์ตอนสัตว์ที่พบได้มากเช่นกัน ได้แก่ โคพีพอด ซึ่งที่พบจำนวนมากนั้นเป็นตัวอ่อนระยะ Nauplius โดยส่วนใหญ่ นอกจากนี้ยังพบแพลงก์ตอนสัตว์กลุ่มอื่นได้แก่พวกไรน้ำจืด เช่น Bosmina, Chydorus และพบโปรโตซัว Arcella และ Difflugia ซึ่งมีเปลือกหุ้มเรียกว่า test หรือ lorica

 
    แพลงก์ตอนสัตว์ทั้งโรติเฟอร์ โคพีพอด และไรน้ำจืด ถือเป็นอาหารสัตว์น้ำที่สำคัญในระบบนิเวศ รวมทั้งมีการนำไปใช้ในการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำวัยอ่อนในเชิงพาณิชย์ และโคพีพอดเองก็กินโรติเฟอร์เป็นอาหารด้วย ในพื้นที่ที่มีพรรณไม้น้ำอยู่หนาแน่นสามารถพบกลุ่มของสัตว์เหล่านี้ได้มาก โดยจะพบว่าแพลงก์ตอนสัตว์บางชนิดจะอาศัยอยู่บริเวณชายฝั่งเท่านั้น นอกจากนี้สัดส่วนเชิงปริมาณของโคพีพอดต่อไรน้ำจืด สามารถใช้เป็นตัวบ่งชี้ความอุดมสมบูรณ์ของแหล่งน้ำได้อีกด้วย

 
    ตารางที่ 9, 10, 11 และ 12 แสดงความหนาแน่นของแพลงก์ตอนสัตว์ที่พบในแต่ละสถานีศึกษา เดือนพฤศจิกายน 2560 พบว่าสถานีที่มีจำนวนแพลงก์ตอนสัตว์มากที่สุดได้แก่ สถานี NH5 และ NH2 มีความหนาแน่น 928 และ 904 ตัวต่อลิตร ตามลำดับ ขณะที่สถานี NH11 พบความหนาแน่นของแพลงก์ตอนสัตว์น้อยที่สุดเพียง 21 ตัวต่อลิตรเท่านั้น ในเดือนมีนาคม 2561 สถานีที่มีจำนวนแพลงก์ตอนสัตว์มากที่สุดได้แก่ สถานี NH1 และ NH7 มีความหนาแน่น 620 และ 555 ตัวต่อลิตร ตามลำดับ สถานี NH3 พบความหนาแน่นของแพลงก์ตอนสัตว์น้อยที่สุด 53 ตัวต่อลิตร

 

    ในเดือนสิงหาคม 2561 สถานี NH9 มีความหนาแน่นของแพลงก์ตอนสัตว์มากที่สุด 625 ตัวต่อลิตร และสถานี NH2 และ NH7 พบความหนาแน่นของแพลงก์ตอนสัตว์น้อยที่สุด 38 และ 70 ตัวต่อลิตร ตามลำดับ และสุดท้ายในเดือนธันวาคม 2561 พบว่าสถานี NH3 มีจำนวนของแพลงก์ตอนสัตว์เพิ่มขึ้นอย่างมากถึง 2,342 ตัวต่อลิตร ซึ่งสอดคล้องกับกำลังผลิตขั้นต้นคือแพลงก์ตอนพืชที่มีปริมาณมากเช่นกันในช่วงเวลานี้

    เมื่อพิจารณาสัดส่วนเชิงปริมาณของแพลงก์ตอนสัตว์ในแต่ละกลุ่มไฟลัม จะพบว่ากลุ่มโรติเฟอร์มีสัดส่วนเชิงปริมาณมากที่สุดถึงร้อยละ 63.23, 58.68, 52.26 และ 44.62 ในเดือนพฤศจิกายน 2560 เดือนมีนาคม 2561 เดือนสิงหาคม 2561 และเดือนธันวาคม 2561ตามลำดับ รองลงมาได้แก่กลุ่ม Arthropoda ซึ่งในบางฤดูกาลมีสัดส่วนใกล้เคียงกับโรติเฟอร์ขึ้นมา สัตว์ในสองกลุ่มที่พบในหนองหารครั้งนี้มีลักษณะการดำรงชีวิตเป็นแพลงก์ตอนถาวรที่แท้จริง คือดำรงชีวิตล่องลอยอยู่ในน้ำตลอดช่วงชีวิต มีการปรับตัวเพื่อเอาตัวรอดและสืบพันธุ์ในสภาวะแวดล้อมที่ไม่เหมาะสมได้เป็นอย่างดี จึงสามารถเป็นแพลงก์ตอนสัตว์กลุ่มหลักที่พบได้มากทุกครั้งของการสำรวจ เมื่อเปรียบเทียบกับผลการศึกษาแพลงก์ตอนสัตว์ในหนองหารของคณะผู้วิจัยช่วงปี 2559-2560 พบว่าทั้งจำนวนชนิดและปริมาณของแพลงก์ตอนสัตว์ไม่มีความแตกต่างมากนักระหว่างช่วงก่อนและหลังเกิดเหตุการณ์อุทกภัย

(a)
(b)
(c)
(d)
สัดส่วนเชิงปริมาณของแพลงก์ตอนสัตว์ในแต่ละไฟลัม ในพื้นที่ศึกษาหนองหาร จังหวัดสกลนคร เดือนพฤศจิกายน 2560 (a) เดือนมีนาคม 2561 (b) เดือนสิงหาคม 2561 (c) และเดือนธันวาคม 2561 (d)
    จากการวิเคราะห์ความสัมพันธ์ทางสถิติ พบว่าปริมาณแพลงก์ตอนพืชและแพลงก์ตอนสัตว์ในหนองหาร มีความสัมพันธ์เชิงบวกต่อกันอย่างมีนัยสำคัญ (p<0.05) คือมีการผันแปรไปในทิศทางเดียวกัน ในสถานีที่มีแพลงก์ตอนพืชมาก ก็จะมีแพลงก์ตอนสัตว์มากตามไปด้วย และด้วยการที่สิ่งมีชีวิตทั้งสองกลุ่มดำรงชีวิตแบบล่องลอยไปตามกระแสน้ำเหมือนกัน ทำให้ได้รับอิทธิพลจากปัจจัยแวดล้อมที่เข้ามาเหมือนกันด้วย แพลงก์ตอนพืชจะเป็นอาหารให้กับแพลงก์ตอนสัตว์ และแพลงก์ตอนสัตว์ก็จะเป็นอาหารให้กับผู้บริโภคในระดับสูงขึ้นตามห่วงโซอาหารในระบบนิเวศต่อไป ทั้งนี้ตามหลักพีระมิดทางนิเวศวิทยาทั้งพีระมิดเชิงจำนวน และพีระมิดเชิงพลังงาน โดยทั่วไปแล้วจำนวนของแพลงก์ตอนพืชจะมีมากกว่าแพลงก์ตอนสัตว์เสมอ หากแหล่งน้ำในธรรมชาติแห่งใดที่มีแพลงก์ตอนสัตว์มากโดยที่มีแพลงก์ตอนพืชน้อยกว่า แสดงว่าอาจเกิดความไม่สมดุลขึ้นของระบบนิเวศแหล่งน้ำนั้นๆ ซึ่งเป็นผลจากปัจจัยแวดล้อมด้านใดด้านหนึ่ง