สัตว์พื้นท้องน้ำ

สัตว์พื้นท้องน้ำ

    สัตว์พื้นท้องน้ำหรือสัตว์หน้าดินที่อาศัยอยู่ตามพื้นท้องน้ำหรือฝังตัวขุดรูอยู่ในพื้นทรายหรือโคลนนั้นมีความสำคัญอย่างยิ่งในด้านการเป็นอาหารที่สำคัญของสัตว์น้ำ บางชนิดเป็นผู้ล่าที่ควบคุมประชากรในระบบนิเวศและทำหน้าที่เป็นผู้ย่อยสลายสารอินทรีย์ที่สะสมอยู่บริเวณพื้นท้องน้ำ นอกจากนี้สัตว์พื้นท้องน้ำหลายกลุ่มยังสามารถใช้เป็นตัวบ่งชี้คุณภาพของแหล่งน้ำที่สัตว์เหล่านั้นอยู่อาศัยได้อีกด้วย
    การศึกษาชนิดและปริมาณสัตว์พื้นท้องน้ำ ดำเนินการเก็บตัวอย่างสัตว์บริเวณผิวหน้าดินและสัตว์ที่ฝังตัวอยู่ใต้พื้นท้องน้ำ โดยใช้อุปกรณ์เก็บดิน (Petersen Grab) แสดงในภาพด้านล่าง รวมทั้งเก็บตัวอย่างสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังขนาดใหญ่ที่อาศัยเกาะอยู่ตามพรรณไม้น้ำใต้น้ำด้วยการใช้สวิงล้อมกวาด ซึ่งวิธีการเก็บตัวอย่างทั้งสองวิธีสามารถนำมาคำนวณหาปริมาณของสัตว์พื้นท้องน้ำต่อหน่วยพื้นที่ที่แน่นอนได้
การเก็บตัวอย่างสัตว์พื้นท้องน้ำในพื้นที่หนองหาร จังหวัดสกลนคร
    จากการวิเคราะห์องค์ประกอบของสัตว์พื้นท้องน้ำในพื้นที่ศึกษาทั้งหมดในรอบปี พบสัตว์พื้นท้องน้ำทั้งหมด 3 ไฟลัม (Phylum) 6 ชั้น (Class) 17 อันดับ (Order) 35 วงศ์ (Family) ซึ่งการวิเคราะห์องค์ประกอบสัตว์พื้นท้องน้ำตามหลักอนุกรมวิธานสามารถสรุปได้ดังตารางที่ 13

สัตว์พื้นท้องน้ำชนิดต่างๆ ที่พบในหนองหาร

01-ไส้เดือนน้ำจืด-y

ไส้เดือนน้ำจืด

02-ไส้เดือนน้ำจืด-2-y

ไส้เดือนน้ำจืด

03-ปลิงควาย-y

ปลิงควาย

04-ตัวอ่อนแมลงชีปะขาวเหงือกกระโปรง-y

ตัวอ่อนแมลงชีปะขาวเหงือกกระโปรง

05-ตัวอ่อนแมลงชีปะขาว-y

ตัวอ่อนแมลงชีปะขาว

7-1

ตัวอ่อนแมลงชีปะขาวเหงือกขนนก

07-ตัวอ่อนแมลงปอบ้าน-y

ตัวอ่อนแมลงปอบ้าน

09-แมลงดาสวน-y

แมลงดาสวน

10-แมลงดาสวน-2-y

แมลงดาสวน

12-มวนเข็ม-y

มวนเข็ม

13-จิงโจ้น้ำ-y

จิงโจ้น้ำ

14-หนอนปลอกน้ำ-y

หนอนปลอกน้ำ

16-ด้วงน้ำ-y

ด้วงน้ำ

17-ตัวอ่อนด้วงน้ำ-y

ตัวอ่อนด้วงน้ำ

23-1

ตัวอ่อนแมลงเหนี่ยง

18-ตัวอ่อนริ้นน้ำจืด-y

ตัวอ่อนริ้นน้ำจืด

20-ตัวอ่อนร้ินน้ำเค็ม-y

ตัวอ่อนริ้นน้ำเค็ม

21-ลูกน้ำยุงลาย-y

ลูกน้ำยุงลาย

22-ไรน้ำกาบหอย-y

ไรน้ำกาบหอย

23-ไอโซพอด,-หมัดปลา-y

ไอโซพอด, หมัดปลา

24-กุ้งฝอย-y

กุ้งฝอย

25-หอยขม-y

หอยขม

26-หอยเวียน-y

หอยเวียน

27-หอยเชอรี่-y

หอยเชอรี่

28-หอยขมจิ๋ว-หอยไซ-y

หอยขมจิ๋ว, หอยไซ

29-หอยเจดีย์-y

หอยเจดีย์

30-หอยนักล่า-y

หอยนักล่า

31-หอยคัน-y

หอยคัน

32-หอยคัน-2-y

หอยคัน

33-หอยกาบ-y

หอยกาบ

34-หอยกาบแหลม-หอยเงี๊ยบ-y

หอยกาบแหลม, หอยเงี๊ยบ

36-หอยกาบ-2-y

หอยกาบ

37-หอยกาบลาย-y

หอยกาบลาย

39-หอยทราย,-หอยขวาน-2-y

หอยทราย, หอยขวาน

38-หอยทราย,-หอยขวาน-y

หอยทราย, หอยขวาน

   เมื่อพิจารณาองค์ประกอบทางชนิดของสัตว์พื้นท้องน้ำ จะพบว่า สัตว์ในไฟลัม Arthropoda ซึ่งเป็นสัตว์ที่มีลักษณะขาเป็นข้อปล้อง มีความหลากหลายทางชนิดมากที่สุด โดยประกอบด้วยสัตว์พื้นท้องน้ำมากถึง 9 อันดับ 18 วงศ์ กลุ่มที่มีความหลากหลายมากที่สุดคือ Class Insecta ได้แก่แมลงและตัวอ่อนของแมลงต่างๆ ซึ่งถือเป็นสัตว์ที่มีจำนวนชนิดและมีประชากรมากที่สุดในโลก และรองลงมาได้แก่สัตว์ในไฟลัม Mollusca คือกลุ่มของหอยฝาเดียว (Gastropoda) และหอยสองฝา (Bivalvia) มีความหลากหลาย 5 อันดับ 9 วงศ์ และสุดท้ายคือสัตว์ในไฟลัม Annelida ได้แก่ หนอนปล้อง ไส้เดือนน้ำ และปลิง มีความหลากหลาย 3 อันดับ 3 วงศ์

 

   สัตวพื้นท้องน้ำที่พบเป็นกลุ่มเด่นในทุกช่วงฤดูกาล ได้แก่ ตัวอ่อนริ้นน้ำจืดใน Order Diptera (Phylum Arthropoda) ซึ่งมักเรียกกันว่าหนอนแดง ตัวอ่อนแมลงในอันดับนี้สามารถบ่งชี้คุณภาพของน้ำที่มีการปนเปื้อนสารอินทรีย์อยู่ได้ โดยกลุ่มตัวอ่อนริ้นน้ำจืดสามารถทนทานได้ในสภาพที่มีออกซิเจนต่ำได้ดี จึงสามารถพบได้ในแหล่งน้ำทั่วไปจนถึงแหล่งน้ำเน่าเสียมาก นอกจากนี้ยังพบไส้เดือนน้ำจืด (Oligochaetes) ซึ่งสามารถแสดงคุณภาพน้ำที่มีสารอินทรีย์สะสมอยู่ได้ 

 

   การศึกษาสัตว์พื้นท้องน้ำเชิงปริมาณในหนองหาร รวบรวมข้อมูลจากสถานีศึกษา 12 สถานีโดยรอบหนองหาร แสดงในตารางที่ 14, 15, 16 และ 17 และภาพที่ 28 พบว่า ในเดือนพฤศจิกายน 2560 สัตว์ในไฟลัม Arthropoda มีจำนวนมากที่สุดคิดเป็นร้อยละ 60.65 ตามมาด้วยสัตว์ในไฟลัม Annelida คิดเป็นร้อยละ 36.46 และสัตว์กลุ่มหอยในไฟลัม Mollusca คิดเป็นร้อยละ 2.89 ซึ่งส่วนใหญ่เป็นหอยฝาเดียว และจะพบหอยสองฝาได้เฉพาะในสถานี NH11 เท่านั้น โดยสถานี NH11 และ NH6 ซึ่งมีลักษณะพื้นท้องน้ำเป็นทรายละเอียดมีความหนาแน่นของสัตว์พื้นท้องน้ำมากที่สุดอีกด้วย

    ในเดือนมีนาคม 2561 สัตว์ในไฟลัม Annelida โดยเฉพาะไส้เดือนน้ำจืด มีจำนวนมากที่สุดคิดเป็นร้อยละ 56.29 ตามมาด้วยสัตว์ในไฟลัม Arthropoda คิดเป็นร้อยละ 29.49 และสัตว์กลุ่มหอยในไฟลัม Mollusca คิดเป็นร้อยละ 14.22 พื้นที่ที่มีจำนวนสัตว์พื้นท้องน้ำเยอะมากได้แก่สถานี NH7 พบความหนาแน่น 1,065 ตัวต่อตารางเมตร และมีความหลากหลายของจำนวนวงศ์มากที่สุด ขณะที่สถานี NH4 นั้นไม่พบสัตว์พื้นท้องน้ำจากการสำรวจเลย
    เดือนสิงหาคม 2561 สัตว์ในไฟลัม Annelida โดยเฉพาะไส้เดือนน้ำจืด มีจำนวนมากที่สุดคิดเป็นร้อยละ 51.08 ตามมาด้วยสัตว์ในไฟลัม Arthropoda คิดเป็นร้อยละ 39.04 และสัตว์กลุ่มหอยในไฟลัม Mollusca คิดเป็นร้อยละ 9.88 พื้นที่ที่มีจำนวนสัตว์พื้นท้องน้ำมากที่สุด ได้แก่สถานี NH6 พบความหนาแน่น 258 ตัวต่อตารางเมตร โดยพบทั้งไส้เดือนน้ำจืดและตัวอ่อนริ้นน้ำจืดเป็นจำนวนมาก
    สุดท้ายในเดือนธันวาคม 2561 สัตว์ในไฟลัม Arthropoda มีจำนวนมากที่สุดคิดเป็นร้อยละ 59.13 ตามมาด้วยสัตว์ในไฟลัม Mollusca คิดเป็นร้อยละ 22.56 และสัตว์ในไฟลัม Annelida คิดเป็นร้อยละ 18.31 พื้นที่ที่มีจำนวนสัตว์พื้นท้องน้ำมากที่สุดได้แก่สถานี NH8 พบความหนาแน่น 523 ตัวต่อตารางเมตร และมีความหลากหลายมากที่สุดถึง 12 วงศ์
    เมื่อเปรียบเทียบความหลากหลายทางชีวภาพและจำนวนของสัตว์พื้นท้องน้ำในช่วงเวลา 4 ครั้งของการศึกษา พบว่าในเดือนพฤศจิกายน 2560 มีจำนวนวงศ์ของสัตว์และปริมาณของสัตว์พื้นท้องน้ำในแต่ละสถานีต่ำที่สุด แสดงให้เห็นอิทธิพลของมวลน้ำที่เข้าสู่หนองหารในช่วงเกิดอุทกภัย การเปลี่ยนแปลงของระดับน้ำ ลักษณะทางกายภาพของพื้นท้องน้ำ และคุณภาพของน้ำและดินตะกอนท้องน้ำทำให้สัตว์หลายชนิดหายไปจากพื้นที่ โดยเฉพาะกลุ่มสัตว์ที่อาศัยอยู่บนพื้นดิน (Epifauna) และไม่ได้ขุดรูลงไปอาศัยอยู่ในมวลดิน จะได้รับอิทธิพลอย่างมากต่อการพัดพาตะกอนหน้าดินออกไปจากพื้นที่หรือการทับถมของตะกอนที่มาจากพื้นที่อื่น ทำให้สัตว์ที่มีความทนทานต่อสภาพแวดล้อมและมีการปรับตัวได้ดีเท่านั้นที่สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้
(a)
(b)
(c)
(d)
สัดส่วนเชิงปริมาณแสดงจำนวนของสัตว์พื้นท้องน้ำในหนองหาร จังหวัดสกลนคร (a: เดือนพฤศจิกายน 2560, b: เดือนมีนาคม 2561, c: เดือนสิงหาคม 2561 และ d: เดือนธันวาคม 2561)

   ผลการศึกษาสัตว์พื้นท้องน้ำหลังจากผ่านวิกฤตการณ์น้ำท่วม แสดงให้เห็นว่าทรัพยากรชีวภาพของแหล่งน้ำหนองหารยังคงมีอยู่ในแต่ละพื้นที่ และเป็นทรัพยากรทางน้ำที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ทั้งทางตรงและทางอ้อม ซึ่งสัตว์น้ำหลายชนิดนั้นสามารถนำมาบริโภคและสร้างรายได้ เช่น ตัวอ่อนแมลง กุ้งฝอย หอยสองฝา หรือแม้แต่ปลิงดูดเลือด ซึ่งปัจจุบันมีประชาชนเข้ามาจับปลิงขายโดยสามารถขายได้ในราคาที่สูง หรือสัตว์กลุ่มไส้เดือนน้ำหรือหนอนแดง ที่สามารถนำมาใช้เป็นเหยื่อตกปลาหรือใช้เป็นอาหารสัตว์น้ำที่มีคุณประโยชน์สูงได้

 

   ชนิดของสัตว์พื้นท้องน้ำที่พบในหนองหารสามารถสะท้อนลักษณะทางกายภาพ เคมีและชีวภาพของหนองหารได้เป็นอย่างดี การพบหนอนริ้นน้ำจืดและไส้เดือนน้ำจืดเป็นชนิดเด่นบริเวณพื้นท้องน้ำแสดงให้เห็นว่าหนองหารมีปริมาณสารอินทรีย์สะสมอยู่อย่างมากในบริเวณพื้นท้องน้ำ และหากมีการทับถมสะสมอยู่เรื่อยๆ อาจทำให้เกิดความเสื่อมโทรมลงของระบบนิเวศพื้นท้องน้ำ และส่งผลกระทบแพร่ขยายสู่คุณภาพน้ำที่อยู่ด้านบนต่อไปได้ในอนาคต การจัดการปัญหาจากต้นเหตุซึ่งได้แก่การปล่อยธาตุอาหารหรือของเสียลงสู่แหล่งน้ำ จึงเป็นแนวทางป้องกันที่ควรตระหนักถึงเป็นอันดับแรก

 

   นอกจากนี้ การใช้สัตว์พื้นท้องน้ำเป็นตัวบ่งชี้คุณภาพแหล่งน้ำควบคู่ไปกับการตรวจวัดคุณภาพน้ำทางกายภาพและเคมีนั้น เป็นที่นิยมและได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวาง เนื่องจากมีวิธีการที่ไม่ยุ่งยากและสามารถใช้เครื่องมือที่หาได้ในชีวิตประจำวัน ทั้งนี้ด้วยคุณสมบัติเฉพาะของสัตว์พื้นท้องน้ำที่มีขนาดใหญ่ตรวจพบได้ง่าย เคลื่อนที่ได้น้อย อยู่ในสถานที่เดียว มีความไวต่อการถูกรบกวนและฟื้นตัวช้า ถือว่ามีความเหมาะสมอย่างยิ่งที่ภาคประชาชน หรือนักเรียน นักศึกษา จะนำไปใช้ในการดูแลเฝ้าระวังแหล่งน้ำในชุมชนของตนเองให้มีสุขภาพที่ดี ถือเป็นจุดเริ่มต้นในการสร้างจิตสำนึกในการอนุรักษ์ทรัพยากรแหล่งน้ำต่อไป