สรุปผลการศึกษา

    การติดตามสถานภาพสิ่งแวดล้อมทางน้ำ การเปลี่ยนแปลงตามฤดูกาล และความสัมพันธ์กับทรัพยากรชีวภาพทางน้ำ ในพื้นที่ศึกษาหนองหาร จังหวัดสกลนคร ผลการศึกษาในเดือนพฤศจิกายน 2560 เดือนมีนาคม 2561 เดือนสิงหาคม 2561 และเดือนธันวาคม 2561 พบว่า หนองหารมีคุณภาพน้ำอยู่ในระดับปานกลาง โดยมีปริมาณออกซิเจนละลายน้ำที่อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานคุณภาพน้ำที่เหมาะสมต่อการดำรงชีวิตของสัตว์น้ำ และในหลายพื้นที่พบว่ามีปริมาณออกซิเจนละลายในน้ำสูงขึ้นจากช่วงก่อนเกิดอุทกภัยด้วย ผลการศึกษาปริมาณคลอโรฟิลล์ เอ สะท้อนให้เห็นความอุดมสมบูรณ์ในด้านกำลังผลิตขั้นต้นในมวลน้ำในระดับปานกลาง ซึ่งในหลายสถานีมีปริมาณคลอโรฟิลล์ เอ ลดลงจากสองปีที่ผ่านมาเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างกายภาพของพื้นที่ ปริมาณของแข็งแขวนลอยรวมในมวลน้ำหนองหารอยู่ในระดับต่ำ โดยส่วนใหญ่แล้วน้ำมีความใสมาก ยกเว้นในพื้นที่ที่มีการปรับปรุงขุดลอกบริเวณซึ่งทำให้เกิดตะกอนฟุ้งกระจาย

 

    คุณภาพดินพื้นท้องน้ำในพื้นที่ส่วนใหญ่ของหนองหารมีความอุดมสมบูรณ์ค่อนข้างสูง เนื่องจากการมีพืชน้ำและสารอินทรีย์ในปริมาณมาก โดยเฉพาะสถานี NH5 เขตตำบลบ้านแป้น เป็นจุดที่ควรเฝ้าระวังเนื่องจากมีการสะสมของสารอินทรีย์สูงและเกิดก๊าซไฮโดรเจนซัลไฟด์ที่มีความเป็นพิษต่อสัตว์น้ำในระดับค่อนข้างสูง สามารถตรวจวัดได้ทุกครั้งตลอดช่วงสามปีของการศึกษาสำรวจ

 

    ปริมาณแพลงก์ตอนพืชซึ่งเป็นกำลังผลิตขั้นต้นของแหล่งน้ำยังคงพบในปริมาณมากและมีความหลากหลายทางชนิดที่สูง โดยสาหร่ายสีเขียวในกลุ่มเดสหมิดเป็นกลุ่มเด่นที่พบได้ปริมาณมากในทุกพื้นที่และเป็นตัวบ่งชี้ถึงคุณภาพน้ำที่ค่อนข้างดี ซึ่งแม้ในขณะที่แหล่งน้ำอยู่ในช่วงปรับตัวจากการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ ก็ยังพบแพลงก์ตอนพืชบางชนิดที่สามารถดำรงชีวิตและแพร่กระจายอยู่ได้ แพลงก์ตอนสัตว์พบกลุ่มของโรติเฟอร์และโคพีพอดซึ่งเป็นอาหารของสัตว์น้ำหลายชนิด โดยมีการแพร่กระจายในทุกพื้นที่และมีปริมาณมาก รวมทั้งมีความสัมพันธ์ในทิศทางเดียวกันกับปริมาณของแพลงก์ตอนพืช ความชุกชุมของแพลงก์ตอนพืชและแพลงก์ตอนสัตว์ซึ่งเป็นอาหารในระบบนิเวศเหล่านี้สามารถพบได้มากในพื้นที่ซึ่งมีน้ำนิ่ง ความลึกของน้ำไม่มากและมีแสงแดดเพียงพอ ซึ่งเป็นลักษณะทางกายภาพทั่วไปของหนองหาร ยกเว้นบริเวณลำห้วยทางออกสู่หนองหารของลำน้ำพุง ซึ่งมีน้ำไหลตลอดปีทำให้มีลักษณะทางสัณฐานและอุทกวิทยาที่ไม่เหมาะกับแพลงก์ตอนส่วนมากที่พบในพื้นที่อื่นๆ สำหรับสัตว์พื้นท้องนั้นพบว่ามีความหลากหลายทางชีวภาพค่อนข้างต่ำในช่วงหลังจากเกิดเหตุการณ์น้ำท่วม และสัตว์ที่พบโดยส่วนใหญ่จะมีความทนทานต่อสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงได้ดี อย่างไรก็ตามจำนวนและความหลากหลายของสัตว์พื้นท้องน้ำได้เพิ่มขึ้นตามระยะเวลาเมื่อเข้าสู่สถานการณ์ปกติ

 

    ทรัพยากรปลาที่สำรวจได้จากเครื่องมืออวนทับตลิ่ง ส่วนใหญ่เป็นปลาที่ชอบอยู่ในเขตพรรณไม้น้ำหนาแน่นซึ่งสะท้อนลักษณะโดยทั่วไปของหนองหาร แต่โดยภาพรวมแล้วยังมีความหลากหลายของชนิดพันธุ์ที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจ ความหลากหลายทางชนิดที่พบในแต่ละสถานีถือว่าค่อนข้างต่ำถึงปานกลางเท่านั้น มีเพียงบางพื้นที่พบพรรณปลาหลากหลายชนิด เช่น ลำน้ำที่เข้าสู่ประตูระบายน้ำสุรัสวดีและลำน้ำพุง อย่างไรก็ตามด้วยความเฉพาะเจาะจงของเครื่องมือประมงที่ใช้ในการสำรวจศึกษา จำเป็นต้องรวบรวมข้อมูลเชิงคุณภาพและเชิงปริมาณจากการสัมภาษณ์และข้อมูลทุติยภูมิอื่นๆ ซึ่งทางคณะผู้วิจัยได้รวบรวมแล้ว พบว่า ความหลากหลายทางชีวภาพของปลาในหนองหารโดยภาพรวมยังถือว่าอยู่ในระดับสูง และในพื้นที่โดยรอบของหนองหารนั้น หลายๆ พื้นที่มีความเหมาะสม สามารถสร้างเขตอนุรักษ์พรรณปลาได้ ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือกันทั้งภาครัฐและผู้มีส่วนร่วมทุกฝ่ายโดยเฉพาะชุมชนในพื้นที่นั้นๆ ในการขับเคลื่อนให้เกิดการอนุรักษ์ขึ้น

    การเปลี่ยนแปลงทางสัณฐานวิทยาและอุทกวิทยาอย่างรวดเร็ว เช่นการเกิดน้ำท่วมหลากอย่างฉับพลัน รวมถึงช่วงระยะเวลาในการเกิดอุทกภัยย่อมส่งผลกระทบต่อทรัพยากรทั้งที่มีชีวิตและไม่มีชีวิตในแหล่งน้ำ การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในพื้นที่ทำให้สิ่งมีชีวิตต้องปรับตัวเพื่อให้อยู่ในแหล่งอาศัยต่อไปได้ แม้ว่าโดยภาพรวมของอุทกภัยจะก่อให้เกิดผลทางลบที่เด่นชัดมากกว่า แต่ในการศึกษาด้านทรัพยากรทางน้ำถือว่า “อาจ”เป็นโอกาสให้เกิดประชากรกลุ่มใหม่ หรือพบชนิดพันธุ์ที่โดยปกติไม่ค่อยพบตามลักษณะของแหล่งน้ำ เข้ามาสู่หนองหารในช่วงที่มีน้ำหลาก ดังเช่นกรณีของปลาซิวอ้าว เป็นต้น ซึ่งผลกระทบจากการเข้ามาของสิ่งมีชีวิตภายนอกนั้นย่อมเกิดขึ้นไม่มากก็น้อย และต้องติดตามอย่างต่อเนื่อง เช่นเดียวกับกรณีของชนิดพันธุ์ต่างถิ่นที่เป็นปัญหาในแหล่งน้ำทั่วประเทศ นอกจากนี้ กระบวนการบำบัดและฟื้นฟูตัวเองของแหล่งน้ำที่เกิดขึ้นหลังเกิดวิกฤตการณ์ต่างๆ เพื่อสร้างความสมดุลให้ระบบนิเวศนั้น อาจช่วยลดทอนบรรเทาปัญหามลพิษที่กำลังสะสมอยู่อีกทางหนึ่งด้วย ดังเช่นกรณีของปริมาณออกซิเจนละลายน้ำที่เพิ่มขึ้นในหลายพื้นที่จากช่วงก่อนเกิดอุทกภัย เป็นตัวอย่างของการปรับสภาพแหล่งน้ำโดยองค์ประกอบของแหล่งน้ำเอง เพื่อสร้างดุลยภาพของทรัพยากรทางน้ำให้ดำรงอยู่ต่อไป

 

    การรวบรวมฐานข้อมูลทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมทางน้ำในหนองหาร เพื่อติดตามการเปลี่ยนแปลงและผลกระทบจากปัจจัยภายในและภายนอกที่เกิดขึ้นต่อทรัพยากรทางน้ำถือว่ามีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการนำไปใช้ในการป้องกันแก้ไขปัญหา การจัดการ การพัฒนา และการอนุรักษ์แหล่งน้ำหนองหาร ซึ่งในปัจจุบันหลายหน่วยงานและภาคส่วนที่เกี่ยวข้องได้ตระหนักถึงความสำคัญของการจัดการสิ่งแวดล้อม อันส่งผลต่อเนื่องถึงความเป็นอยู่ของประชาชน ซึ่งยังคงต้องใช้ประโยชน์จากหนองหารต่อไปในอนาคตไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง การให้ความรู้และสร้างจิตสำนึกแก่ประชาชนโดยเฉพาะเด็กและเยาวชนนั้น ถือว่าเป็นรากฐานที่สำคัญอย่างยิ่งต่อการพัฒนาควบคู่ไปกับการอนุรักษ์ทรัพยากรแหล่งน้ำ และเป็นหน้าที่ของทุกฝ่ายที่ต้องร่วมขับเคลื่อนให้เป็นรูปธรรม เพื่อให้คนสกลนครได้ดูแลหนองหารอันเป็นหัวใจของเมืองสกลนครให้คงอยู่ต่อไปในภายภาคหน้า