ลักษณะทั่วไปและการใช้ประโยชน์พื้นที่

พื้นที่ศึกษาวิจัยเบื้องต้นด้านทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมทางน้ำในหนองหาร จังหวัดสกลนคร แบ่งออกเป็น 12 สถานีเก็บตัวอย่าง ซึ่งกระจายครอบคลุมพื้นที่รอบหนองหาร โดยมีหลักการพิจารณาเลือกจุดเก็บตัวอย่างคือ การเลือกพื้นที่ซึ่งมีความสำคัญในการใช้ประโยชน์ด้านต่างๆ หรือเป็นบริเวณที่มีลำน้ำสาขาไหลลงสู่หนองหาร ทั้งนี้ ลักษณะทางกายภาพในแต่ละสถานี มีความเหมาะสมในการเป็นแหล่งอาศัย และสามารถปรับปรุงให้มีระบบนิเวศที่เอื้ออำนวยต่อการดำรงชีวิตของทรัพยากรสัตว์น้ำได้ สถานีศึกษาทั้ง 12 สถานีมีรายละเอียดดังนี้

คลิกที่ภาพเพื่อดูข้อมูลแต่ละสถานี
NH1 NH2 NH3 NH4 NH5 NH6 NH7 NH8 NH9 NH10 NH11 NH12

สถานี NH1

 

สถานี NH1 พิกัดทางภูมิศาสตร์ E410530  N1907041 ทางทิศเหนือของหนองหาร อยู่ในเขตตำบลท่าแร่ อำเภอเมือง จังหวัดสกลนคร ลักษณะทางกายภาพเป็นพื้นที่อ่าวที่มีพรรณไม้น้ำอย่างหนาแน่นรวมทั้งพืชชายน้ำที่ขึ้นอยู่ริมฝั่งซึ่งเป็นบริเวณตื้น ขนาบด้วยเกาะดอนขนาดเล็ก โดยรอบเป็นจุดชมทิวทัศน์หนองหารตลอดแนวถนน ซึ่งมีการขุดลอกพื้นท้องน้ำเพื่อสร้างทัศนียภาพ เพิ่มความลึกของน้ำและกำจัดวัชพืชน้ำด้วย ทางทิศเหนือของสถานีมีจุดเชื่อมต่อกับลำห้วยสาขาและหนองหารน้อยซึ่งจัดตั้งเป็นอุทยานบัวเฉลิมพระเกียรติจังหวัดสกลนคร

สถานี NH2

 

สถานี NH2 พิกัดทางภูมิศาสตร์ E409247  N1906342 ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของหนองหาร ในเขตตำบลเชียงเครือ อำเภอเมือง จังหวัดสกลนคร เป็นบริเวณทางออกของลำธารสาขาได้แก่ ห้วยลาก ซึ่งเมื่อสองปีก่อนนี้มีพรรณไม้น้ำและกอสนุ่นขึ้นปกคลุมบริเวณปากทางออกของลำห้วยจนทำให้ไม่สามารถเข้าไปสู่ลำห้วยได้ อย่างไรก็ตาม หลังเกิดวิกฤตการณ์น้ำท่วมครั้งใหญ่ในเดือนกรกฎาคมและสิงหาคม 2560 มีการขุดลอกและกำจัดวัชพืชทำให้เกิดแนวร่องน้ำของลำห้วยที่ชัดเจน การใช้ประโยชน์พื้นที่เป็นการเกษตรกรรมและประมงพื้นบ้าน

สถานี NH3

 

สถานี NH3 พิกัดทางภูมิศาสตร์ E412984  N1907248 ทิศเหนือของหนองหาร ตำบลท่าแร่ อำเภอเมือง จังหวัดสกลนคร อยู่ในเขตชุมชนเทศบาลตำบลท่าแร่ ใกล้กับสถานีประปาและโรงบำบัดน้ำเสียของเทศบาล บริเวณที่สำรวจมีพรรณไม้น้ำปกคลุมอย่างหนาแน่นโดยเฉพาะพืชใต้น้ำ ได้แก่ สาหร่ายหางกระรอก ดีปลีน้ำ สาหร่ายนา สาหร่ายข้าวเหนียว เป็นต้น พื้นที่มีการขุดลอกหลังเกิดอุทกภัยในปี 2560 การใช้ประโยชน์ของพื้นที่เป็นเขตชุมชนที่มีบ้านเรือนประชาชนอยู่อย่างหนาแน่นซึ่งอาจส่งผลต่อคุณภาพน้ำในช่วงน้ำหลากหรือฤดูฝนที่น้ำจากแผ่นดินจะไหลหลากลงสู่หนองหาร

สถานี NH4

 

สถานี NH4 พิกัดทางภูมิศาสตร์ E408703  N1905370 ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของหนองหาร ในเขตตำบลฮางโฮง อำเภอเมือง จังหวัดสกลนคร บริเวณใกล้กับแนวท่อสูบน้ำของการประปาส่วนภูมิภาคซึ่งชักน้ำดิบจากหนองหารเพื่อผลิตน้ำประปา สองฝั่งของแนวท่อสูบน้ำเป็นพื้นที่ที่ค่อนข้างตื้น มีเนินดินซึ่งโผล่พ้นน้ำเป็นระยะ การใช้ประโยชน์พื้นที่ เป็นพื้นที่เกษตรกรรมและพบการทำประมงพื้นบ้านในบริเวณโดยรอบ

สถานี NH5

สถานี NH5 พิกัดทางภูมิศาสตร์ E414420  N1905108 ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของหนองหาร เขตตำบลบ้านแป้น อำเภอโพนนาแก้ว จังหวัดสกลนคร ซึ่งมีลำน้ำเชื่อมต่อกับหนองหารได้แก่ห้วยลอง ลักษณะทางกายภาพเป็นอ่าวที่มีพรรณไม้น้ำหนาแน่น การใช้ประโยชน์พื้นที่เป็นเขตเกษตรกรรมและการทำประมงพื้นบ้าน จุดเก็บตัวอย่างห่างจากขอบฝั่งพอสมควรจึงมีลักษณะหนองน้ำตามธรรมชาติที่ห่างจากกิจกรรมการใช้ประโยชน์

สถานี NH6

 

สถานี NH6 พิกัดทางภูมิศาสตร์ E410088  N1901492 ทางทิศตะวันตกของหนองหาร เขตตำบลฮางโฮง อำเภอเมือง จังหวัดสกลนคร เป็นเกาะดอนขนาดใหญ่ชื่อว่า ดอนสะคราญ ซึ่งเป็นเกาะดอนที่เป็นพื้นทรายละเอียด และความลาดชันของพื้นที่หาดทรายมีต่ำมากทำให้มีระดับน้ำตื้นและแสงสามารถส่องลงถึงพื้นน้ำได้ พื้นที่โดยรอบเป็นที่ดอนซึ่งมีพืชล้มลุกเป็นส่วนมาก ชายฝั่งมีพืชชายน้ำพวกหญ้าและกกเป็นหลัก

สถานี NH7

 

สถานี NH7 พิกัดทางภูมิศาสตร์ E413480  N1900955 เกาะดอนสวรรค์ใหญ่ ตั้งอยู่ใจกลางหนองหาร เขตตำบลธาตุเชิงชุม อำเภอเมือง จังหวัดสกลนคร เป็นเกาะดอนที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในหนองหาร บนเกาะดอนสวรรค์เป็นพื้นที่ป่าขนาดใหญ่มีไม้ยืนต้น เช่น ยางนา ข่อย รัง เป็นต้น (ภาพที่ 8) รวมทั้งมีความหลากหลายของทรัพยากรทางธรรมชาติอื่นๆ ซึ่งปัจจุบันเป็นแหล่งเรียนรู้สำหรับเยาวชนและประชาชนทั่วไป ตามโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (อพ.สธ.) อีกด้วย จุดสำรวจบนพื้นที่ดอนสวรรค์ใหญ่จะอยู่ทางทิศเหนือของเกาะซึ่งเป็นจุดที่มีตะกอนทรายพัดมาทับถมให้เกิดแนวสันดอนทรายตื้นทำให้มวลน้ำและพื้นท้องน้ำมีความสะอาดมากกว่าจุดอื่นๆ โดยรอบเกาะดอนสวรรค์ นอกจากนี้ยังมีสัณฐานที่เป็นชายฝั่งราบตื้น จึงมีพรรณไม้น้ำปกคลุมอยู่มาก

สถานี NH8

 

สถานี NH8 พิกัดทางภูมิศาสตร์ E410288  N1898923 ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของหนองหาร ในเขตตำบลธาตุเชิงชุม อำเภอเมือง จังหวัดสกลนคร พื้นที่สำรวจตั้งอยู่บริเวณหลังศูนย์วิจัยพัฒนาประมงน้ำจืดสกลนคร เยื้องกับสวนสาธารณะเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี 80 พรรษา และเทศบาลนครสกลนคร พื้นที่สำรวจเว้าลึกเข้าไปเป็นอ่าวแคบ มีพื้นที่ตื้นริมฝั่งที่เต็มไปด้วยพรรณไม้น้ำต่างๆ บริเวณนี้มีการปรับปรุงพื้นที่หลายครั้งรวมทั้งหลังจากเกิดเหตุน้ำท่วมด้วย การใช้ประโยชน์พื้นที่เป็นเขตชุมชนเทศบาลนครสกลนคร ซึ่งมีบ้านเรือนและสถานที่ราชการอยู่อย่างหนาแน่น

สถานี NH9

 

สถานี NH9 พิกัดทางภูมิศาสตร์ E414068  N1896490 ทางทิศใต้ของหนองหารในเขตตำบลงิ้วด่อน อำเภอเมือง จังหวัดสกลนคร เป็นอ่าวตอนล่างเรียกว่าห้วยทะเล ซึ่งมีลำน้ำสาขาหลายสายไหลลงสู่หนองหาร เช่น ห้วยเดียว ห้วยเฮ ห้วยวังช้าง เป็นต้น มีพรรณไม้น้ำปกคลุมพื้นผิวน้ำอย่างหนาแน่น การใช้ประโยชน์เป็นพื้นที่เกษตรกรรมและมีการทำประมงพื้นบ้าน

สถานี NH10

 

สถานี NH10 พิกัดทางภูมิศาสตร์ E419149  N1899122 ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของหนองหารในเขต ตำบลบ้านแป้น อำเภอโพนนาแก้ว จังหวัดสกลนคร เป็นอ่าวเว้าเข้าไปยังแผ่นดินและมีลำห้วยสาขา เรียกบริเวณนี้ ว่าซ่งน้ำพุ ล้อมรอบด้วยพื้นที่เกษตรกรรมขนาดใหญ่ พื้นที่สำรวจระดับน้ำไม่ลึกมากทำให้มีพรรณไม้น้ำขึ้นปกคลุมอย่างหนาแน่นมากจนปิดกั้นทางเดินเรือ เหลือเพียงร่องน้ำไม่กี่ร่องเท่านั้นที่สามารถเข้าสู่ฝั่งได้ พรรณไม้น้ำที่พบมากเป็นพืชใต้น้ำ ได้แก่ สาหร่ายหางกระรอก ดีปลีน้ำ เป็นต้น

สถานี NH11

 

สถานี NH11 พิกัดทางภูมิศาสตร์ E415257  N1895801 ทางทิศใต้ของหนองหาร ในเขตตำบลเหล่าปอแดง อำเภอเมือง จังหวัดสกลนคร เป็นปากทางออกสู่หนองหารของลำน้ำพุง ซึ่งไหลมาจากเทือกเขาภูพาน จุดสำรวจตั้งอยู่ริมฝั่งทางออกลำห้วยซึ่งเป็นพื้นทรายที่ถูกพัดพามาจากแผ่นดิน มีการไหลของน้ำออกมาจากลำน้ำพุงค่อนข้างชัดเจน บริเวณนี้จึงพบพรรณไม้น้ำอยู่น้อยกว่าบริเวณอื่นๆ ของหนองหาร การใช้ประโยชน์พื้นที่เป็นการเกษตรกรรม เส้นทางคมนาคมทางน้ำ และการประมงพื้นบ้าน

สถานี NH12

 

สถานี NH12 พิกัดทางภูมิศาสตร์ E421557  N1896084 ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของหนองหาร ในเขตตำบลม่วงลาย อำเภอเมือง จังหวัดสกลนคร สถานีสำรวจตั้งอยู่บริเวณปากทางเข้าสู่ประตูน้ำสุรัสวดีซึ่งไหลออกไปลำน้ำก่ำ เป็นพื้นที่ทางน้ำเปิดกว้างมีความลึกของน้ำมาก ชายฝั่งที่มีขอบตลิ่งลาดชัน การใช้ประโยชน์พื้นที่เป็นการเกษตรกรรม เลี้ยงสัตว์ และประมงพื้นบ้าน

ภูมิประเทศของหนองหารโดยภาพรวมทั้งหมดแล้วเป็นพื้นที่ต่ำที่มีความแบนราบมาก ทางทิศเหนือและทิศตะวันออกเป็นที่ราบลุ่มและเป็นพื้นที่เกษตรกรรม ขณะที่ทางทิศตะวันตกและทิศใต้เป็นเขตติดต่อกับเทือกเขาภูพานที่มีความชันมากกว่าทิศตะวันออก หนองหารมีลำน้ำสาขาไหลลงสู่ตัวหนองโดยรอบโดยมีลำน้ำพุงทางทิศใต้เป็นลำน้ำที่ไหลลงสู่หนองหารในปริมาณมากที่สุด น้ำจากหนองหารไหลไปยังลำน้ำก่้าทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งมวลน้ำจะไหลออกแม่น้ำโขงที่อำเภอธาตุพนม จังหวัดนครพนม ระดับน้ำในหนองหารได้รับอิทธิพลอย่างมากจาก ปริมาณฝนและน้ำที่ไหลจากลำน้ำสาขาต่างๆ ซึ่งมีความแตกต่างกันออกไปตามฤดูกาล การศึกษาในครั้งนี้วางแผนการสำรวจออกเป็น 3 ช่วงฤดูกาล ได้แก่ ช่วงปลายฤดูน้ำหลากในเดือนพฤศจิกายน ช่วงฤดูแล้งในเดือนธันวาคมและเดือนมีนาคม และช่วงกลางฤดูน้ำหลากในเดือนสิงหาคม ตามลำดับ

เหตุการณ์น้ำท่วมครั้งใหญ่ในจังหวัดสกลนคร

อุทกภัยครั้งใหญ่ในจังหวัดสกลนคร เกิดขึ้นในช่วงเดือนกรกฎาคมถึงเดือนสิงหาคม 2560 จากอิทธิพลของพายุโซนร้อนเซินกา ซึ่งทำให้เกิดฝนตกหนักทั่วทั้งประเทศไทย ในวันที่ 29 กรกฎาคม 2560 มีปริมาณน้ำฝนสูงสุดถึง 134.6 และ 99.4 มิลลิเมตร ในจังหวัดสกลนครและนครพนม ตามลำดับ (กรมทรัพยากรน้ำ, 2560) ทำให้เกิดน้ำท่วมเป็นบริเวณกว้างในจังหวัดสกลนคร หนองหารซึ่งมีลักษณะเป็นแอ่งกระทะใจกลางเมืองสกลนครต้องรองรับมวลน้ำปริมาณมากจากน้ำที่เอ่อท่วมและมวลน้ำจากลำน้ำสาขา โดยมีระดับน้ำในหนองหารสูงถึง 158.53 ม.รทก. ในวันที่ 31 กรกฎาคม 2560 ทั้งนี้น้ำจากหนองหารและลำน้ำสาขาได้ล้นทางน้ำล้นของประตูระบายน้ำสุรัสวดีและไหลลงสู่ลำน้ำก่ำ มีปริมาตรน้ำเหนือประตูระบายน้ำน้ำก่ำตอนล่างมากถึง 102.53 ล้านลูกบาศก์เมตร (โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาพัฒนาลุ่มน้ำก่ำ, 2560) วิกฤตการณ์น้ำท่วมครั้งนี้ส่งผลกระทบต่อสภาพความเป็นอยู่ของประชาชน ทรัพย์สิน บ้านเรือนและสิ่งปลูกสร้าง สาธารณูปโภค เศรษฐกิจและสังคม รวมทั้งทรัพยากรธรรมชาติในด้านต่างๆ อีกด้วย