การเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิน้ำมีผลต่อสิ่งมีชีวิตที่อาศัยอยู่ทั้งทางด้านการปรับตัวและกระบวนการทางชีวเคมีต่างๆ ภายในร่างกายของสัตว์หรือแม้แต่พืชด้วย หากมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วเกินกว่าระดับที่สิ่งมีชีวิตปรับตัวได้ทันก็จะเกิดผลกระทบต่อการดำรงชีวิตได้ ผลการศึกษาพบว่าอุณหภูมิของน้ำในเดือนพฤศจิกายน 2560 เดือนมีนาคม 2561 และเดือนสิงหาคม 2561 ในรอบวันนั้นไม่แตกต่างกันมากนัก และอยู่ในช่วงที่สิ่งมีชีวิตสามารถอาศัยอยู่ได้ ขณะที่เดือนธันวาคม 2561 มีความแตกต่างของอุณหภูมิในช่วงฤดูแล้งที่มีอากาศหนาวเย็น ตั้งแต่ 24.5 องศาเซลเซียสในช่วงเช้า ถึง 31.7 องศาเซลเซียสในช่วงบ่าย ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิอย่างช้าๆ จึงไม่ส่งผลกระทบต่อสัตว์น้ำในหนองหารที่สามารถปรับตัวได้ อนึ่งพื้นที่ส่วนใหญ่ของหนองหารนั้นมีความลึกของน้ำค่อนข้างน้อย ทำให้แสงสามารถส่องลงมาสู่น้ำที่ตื้นได้ทั่วถึงทำให้มวลน้ำมีอุณหภูมิที่สูงในช่วงกลางวัน อุณหภูมิสูงและแสงที่เพียงพอนั้นเป็นการกระตุ้นให้เกิดกิจกรรมต่างๆ ของสิ่งมีชีวิตทั้งจุลินทรีย์ พืช และสัตว์
สภาพการนำไฟฟ้านั้นมีความสัมพันธ์ในทิศทางเดียวกันกับความเข้มข้นของแร่ธาตุที่มีประจุอยู่ในมวลน้ำ โดยเฉพาะอนุภาคโซเดียมและแมกนีเซียมของเกลือจึงสามารถสะท้อนความเค็มของน้ำได้ ในพื้นที่หนองหารมีสภาพการนำไฟฟ้าอยู่ในช่วง 68.5-164.9 ไมโครซีเมนส์ต่อเซนติเมตรในเดือนพฤศจิกายน 2560, มีค่าในช่วง 4.7-180.9 ไมโครซีเมนส์ต่อเซนติเมตรในเดือนมีนาคม 2561, มีค่าในช่วง 55.0-159.1 ไมโครซีเมนส์ต่อเซนติเมตรในเดือนสิงหาคม 2561 และมีค่าในช่วง 68.8-146.9 ไมโครซีเมนส์ต่อเซนติเมตรในเดือนธันวาคม 2561 ตามลำดับ ซึ่งสภาพการนำไฟฟ้ามีความสัมพันธ์เชิงบวกกับระดับความเค็มของน้ำในแหล่งน้ำหนองหาร ซึ่งมีค่าระหว่าง 0.03-0.07 psu ในเดือนพฤศจิกายน 2560, มีค่า 0.03-0.08 psu ในเดือนมีนาคม 2561, มีค่า 0.02-0.07 psu ในเดือนสิงหาคม 2561 และมีค่า 0.03-0.07 psu ในเดือนธันวาคม 2561 ตามลำดับ ซึ่งถือว่าเป็นระดับความเค็มของแหล่งน้ำจืดตามปกติที่จะมีค่าความเค็มไม่เกิน 0.5 psu และมีความเค็มค่อนข้างคงที่ในรอบปี
ความเป็นกรดเป็นด่างหรือค่าพีเอช (pH) เป็นค่าที่บ่งชี้ถึงสภาวะความเป็นกรดหรือด่างของมวลน้ำ ระดับ พีเอชส่งผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตที่อยู่ในน้ำหากมีค่ามากหรือน้อยเกินไป ระดับที่เหมาะสมต่อสัตว์น้ำจะอยู่ที่ 6.5-9.0 ผลการศึกษาพบว่าค่าความเป็นกรดเป็นด่างส่วนใหญ่มีสภาพเป็นกลางถึงเป็นด่างอ่อนๆ โดยในเดือนพฤศจิกายน 2560 มีค่าอยู่ในช่วง 6.67-7.23 เดือนมีนาคม 2561 มีค่าอยู่ในช่วง 7.36-9.41 เดือนสิงหาคม 2561 มีค่าอยู่ในช่วง 7.13-7.88 และเดือนธันวาคม 2561 มีค่าอยู่ในช่วง 6.63-7.80 ตามลำดับ ซึ่งผลการศึกษาทั้งสี่ครั้งที่สำรวจ เป็นไปตามมาตรฐานคุณภาพน้ำในแหล่งน้ำผิวดิน (กรมควบคุมมลพิษ, 2537) และสิ่งมีชีวิตสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ตามปกติ สามารถเจริญเติบโตและแพร่พันธุ์ได้
ปริมาณออกซิเจนละลายน้ำ ในพื้นที่ศึกษาทั้งหมด เดือนพฤศจิกายน 2560 อยู่ในช่วง 4.00-6.69 มิลลิกรัมต่อลิตร ค่าเฉลี่ย 5.79 มิลลิกรัมต่อลิตร เดือนมีนาคม 2561 อยู่ในช่วง 5.11-9.94 มิลลิกรัมต่อลิตร ค่าเฉลี่ย 7.07 มิลลิกรัมต่อลิตร เดือนสิงหาคม 2561 อยู่ในช่วง 2.58-6.68 มิลลิกรัมต่อลิตร ค่าเฉลี่ย 4.90 มิลลิกรัมต่อลิตร และเดือนธันวาคม 2561 อยู่ในช่วง 4.24-7.61 มิลลิกรัมต่อลิตร ค่าเฉลี่ย 5.50 มิลลิกรัมต่อลิตร ตามลำดับ ค่าที่ตรวจวัดได้ทั้งหมดนี้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานคุณภาพน้ำที่เหมาะสมต่อการดำรงชีวิตของสัตว์น้ำ (สถาบันประมงน้ำจืดแห่งชาติ, 2530) ซึ่งกำหนดไว้ไม่ให้ต่ำกว่า 3 มิลลิกรัมต่อลิตร ยกเว้นสถานี NH5 ในเดือนสิงหาคม 2561 ซึ่งมีปริมาณออกซิเจนละลายน้ำเพียง 2.58 มิลลิกรัมต่อลิตรเท่านั้นในช่วงเวลาบ่าย ซึ่งเป็นระดับออกซิเจนที่ค่อนข้างต่ำและส่งผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตในกระบวนการต่างๆ ของร่างกาย โดยหากมีออกซิจนละลายน้ำระดับต่ำกว่า 3 มิลลิกรัมต่อลิตรเป็นระยะเวลานานอาจทำให้เกิดการตายลงของสัตว์น้ำได้ ทั้งนี้ลักษณะทางกายภาพของพื้นที่สถานี NH5 มีการสะสมของพืชน้ำอย่างหนาแน่นและน้ำค่อนข้างนิ่งจึงทำให้เกิดสารอินทรีย์สะสมมากทั้งในมวลน้ำและพื้นท้องน้ำและการย่อยสลายสารอินทรีย์โดยจุลินทรีย์จะเป็นกลุ่มที่ใช้ออกซิเจนเป็นหลัก
เมื่อพิจารณาเปรียบเทียบกับผลการศึกษาปริมาณออกซิเจนละลายน้ำในหนองหารโดยคณะผู้วิจัยในช่วงปี 2559-2560 ถือว่าคุณภาพน้ำในด้านปริมาณออกซิเจนในการศึกษาในรอบปัจจุบันนี้มีค่าเฉลี่ยสูงกว่าค่อนข้างมาก แสดงให้เห็นถึงคุณภาพน้ำที่ดีขึ้นซึ่งอาจเป็นผลมาจากการที่มวลน้ำได้พัดพาสารอินทรีย์ ตะกอนขนาดเล็กและพรรณไม้น้ำต่างๆ ออกจากหนองในช่วงที่เกิดน้ำท่วมครั้งใหญ่ ปี 2560 ทำให้หลายพื้นที่ที่เคยพบปัญหาออกซิเจนละลายน้ำมีค่าต่ำเนื่องจากสารอินทรีย์และสิ่งเน่าเสียสะสมอยู่มาก กลับมีพื้นที่ที่สะอาดมากขึ้นและมีปริมาณออกซิเจนละลายในมวลน้ำสูงขึ้น อย่างไรก็ตามจากผลการศึกษาในครั้งนี้พบว่าเมื่อเข้าสู่เดือนสิงหาคม 2561 ปริมาณออกซิเจนละลายน้ำจะเริ่มลดต่ำลงจากช่วงปีแรกที่ผ่านเหตุการณ์อุทกภัยมา แสดงให้เห็นถึงการปรับตัวของแหล่งน้ำทางด้านองค์ประกอบทางกายภาพ เคมี และสิ่งมีชีวิตในน้ำ ให้กลับเข้าสู่สภาวะเดิมตามธรรมชาติของหนองหาร ซึ่งมีพืชน้ำและแหล่งของสารอินทรีย์โดยรอบ
จากภาพรวมของผลการศึกษาพบว่าแหล่งน้ำหนองหารในช่วงเวลาที่ศึกษานี้ จัดอยู่ในแหล่งน้ำประเภทที่ 3 (เกณฑ์มาตรฐานแหล่งน้ำผิวดิน กรมควบคุมมลพิษ, 2537) แสดงถึง แหล่งน้ำที่ได้รับน้ำทิ้งจากกิจกรรมบางประเภท และสามารถเป็นประโยชน์เพื่อ 1) การอุปโภคและบริโภคโดยต้องผ่านการฆ่าเชื้อโรคตามปกติและผ่านกระบวนการปรับปรุงคุณภาพน้ำทั่วไปก่อน (2) การเกษตร เท่านั้น อย่างไรก็ตาม การตรวจวัดคุณภาพน้ำครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อสะท้อนให้เห็นบทบาทและความสำคัญของคุณภาพน้ำที่มีต่อทรัพยากรทางน้ำและการประมงเป็นหลัก ซึ่งจากผลการศึกษาพบว่าคุณภาพน้ำในรอบปีตลอดช่วงการศึกษามีความเหมาะสมต่อการดำรงชีวิตของสัตว์น้ำตามเกณฑ์ของสถาบันประมงน้ำจืดแห่งชาติ (2530) แต่การพิจารณาคุณภาพน้ำเพื่อการใช้ประโยชน์ในด้านอื่นๆ นั้นจะมีค่าพารามิเตอร์ที่แตกต่างกันออกไปซึ่งสามารถติดตามผลการศึกษาได้จากหน่วยงานต่างๆ ที่ดำเนินการศึกษาเฉพาะด้าน
การวิเคราะห์ความเข้มข้นของคลอโรฟิลล์ เอ ในพื้นที่ศึกษาหนองหาร เดือนพฤศจิกายน 2560 เดือนมีนาคม 2561 เดือนสิงหาคม 2561 และเดือนธันวาคม 2561 ได้ผลการศึกษาดังภาพด้านล่าง
ปริมาณคลอโรฟิลล์ เอ ในน้ำ ในพื้นที่ศึกษาทั้งหมด เดือนพฤศจิกายน 2560 อยู่ในช่วง 1.91-14.69 ไมโครกรัมต่อลิตร ค่าเฉลี่ย 5.71 ไมโครกรัมต่อลิตร เดือนมีนาคม 2561 อยู่ในช่วง 2.05-10.38 ไมโครกรัมต่อลิตร ค่าเฉลี่ย 5.30 ไมโครกรัมต่อลิตร เดือนสิงหาคม 2561 อยู่ในช่วง 0.95-23.36 ไมโครกรัมต่อลิตร ค่าเฉลี่ย 4.14 ไมโครกรัมต่อลิตร และเดือนธันวาคม 2561 อยู่ในช่วง 0.95-13.35 ไมโครกรัมต่อลิตร ค่าเฉลี่ย 3.76 ไมโครกรัมต่อลิตร ตามลำดับ ผลการศึกษาที่ได้สะท้อนถึงสถานภาพแหล่งน้ำในระดับ Oligotrophic และ Mesotrophic level ซึ่งมีความอุดมสมบูรณ์ต่ำถึงปานกลาง โดยปริมาณคลอโรฟิลล์ เอ ที่ลดลงจากช่วงปี 2559-2560 นี้ มีข้อสันนิษฐานได้แก่ การเกิดอุทกภัยทำให้เกิดการพัดพาหายไปของแพลงก์ตอนพืชทั้งประเภทที่ล่องลอยในน้ำและเกาะติดกับวัตถุ ซึ่งการวัดคลอโรฟิลล์ในการศึกษาครั้งนี้เป็นการวัดคลอโรฟิลล์ในมวลน้ำที่มีแพลงก์ตอนพืชหรือสาหร่ายขนาดเล็กเป็นหลัก จึงทำให้ความอุดมสมบูรณ์ที่วัดได้เป็นความอุดมสมบูรณ์ของตัวมวลน้ำเท่านั้น อย่างไรก็ตามหากพิจารณาถึงความอุดมสมบูรณ์ของแหล่งน้ำหนองหารแล้วสามารถใช้มวลชีวภาพของพรรณไม้น้ำเป็นตัวชี้วัดได้อีกวิธีหนึ่ง ซึ่งสามารถสะท้อนให้เห็นความอุดมสมบูรณ์ในภาพรวมของแหล่งน้ำทั้งในมวลน้ำ พื้นท้องน้ำและชายฝั่งน้ำได้ชัดเจนยิ่งขึ้น
ของแข็งแขวนลอยซึ่งเป็นอนุภาคขนาดเล็กจะลอยกระจายอยู่ในน้ำ โดยอนุภาคเหล่านี้เป็นสาเหตุทำให้น้ำมีสีและขุ่น ซึ่งส่งผลต่อปริมาณแสงที่ส่องลงมาสู่มวลน้ำ และส่งผลกระทบต่อสัตว์น้ำโดยขัดขวางระบบแลกเปลี่ยนก๊าซหรือทำให้สัตว์เจริญเติบโตช้า แต่ความขุ่นสามารถช่วยในการหลบซ่อนศัตรูของสัตว์น้ำขนาดเล็กได้และถ้าหากเป็นความขุ่นอันเกิดจากสิ่งมีชีวิตพวกแพลงก์ตอนพืชหรือแพลงก์ตอนสัตว์ก็จะช่วยให้เกิดอาหารธรรมชาติแก่สัตว์น้ำมากยิ่งขึ้น ผลการวิเคราะห์ปริมาณของแข็งแขวนลอยรวมในน้ำ ดังภาพด้างล่าง
ปริมาณของแข็งแขวนลอยรวมในน้ำ ในพื้นที่ศึกษาทั้งหมด เดือนพฤศจิกายน 2560 อยู่ในช่วง 1.23-11.25 มิลลิกรัมต่อลิตร ค่าเฉลี่ย 4.40 มิลลิกรัมต่อลิตร เดือนมีนาคม 2561 อยู่ในช่วง 1.71-16.76 มิลลิกรัมต่อลิตร ค่าเฉลี่ย 5.49 มิลลิกรัมต่อลิตร เดือนสิงหาคม 2561 อยู่ในช่วง 2.80-42.00 มิลลิกรัมต่อลิตร ค่าเฉลี่ย 12.82 มิลลิกรัมต่อลิตร และเดือนธันวาคม 2561 อยู่ในช่วง 1.50-18.33 มิลลิกรัมต่อลิตร ค่าเฉลี่ย 7.33 มิลลิกรัมต่อลิตร ตามลำดับ
ผลการศึกษาสะท้อนให้เห็นว่าหนองหารเป็นแหล่งน้ำที่มีน้ำใสมาก โดยมีสารแขวนลอยอยู่ในน้ำปริมาณน้อยมากจึงทำให้ความขุ่นต่ำไปด้วย สอดคล้องกับค่าความโปร่งแสงของน้ำที่วัดโดยจานวัดค่าความโปร่งแสง (Secchi disk) เมื่อพิจารณาเชิงพื้นที่พบว่าโดยส่วนมากแล้วสถานีศึกษาจะมีระดับความโปร่งแสงที่แสงสามารถส่องถึงพื้นน้ำได้ อย่างไรก็ตาม พบว่ามีสถานีที่มีปริมาณของแข็งแขวนลอยที่สูงกว่าพื้นที่อื่น ได้แก่สถานี NH11 ซึ่งเป็นทางน้ำไหลออกจากลำน้ำพุง ซึ่งน้ำที่ไหลหลากลงมาจากแผ่นดินได้ชะล้างตะกอนลงมาทำให้เกิดน้ำขุ่นขึ้นได้ตลอดทั้งปี ทั้งนี้ในหลายบริเวณของหนองหารพบว่าน้ำมีสีขุ่นขึ้นมาอย่างชัดเจน ตัวอย่างเช่นสถานี NH9 เนื่องจากกิจกรรมการปรับปรุงพื้นที่ ขุดลอกหนอง หลังจากเหตุการณ์น้ำท่วม ทำให้เกิดตะกอนเบาฟุ้งกระจายเป็นบริเวณกว้าง ดังภาพ
ปัจจัยหนึ่งที่ช่วยให้แหล่งน้ำหนองหารใสและมีความโปร่งแสงมากคือพรรณไม้น้ำปริมาณมากในพื้นที่ ซึ่งสามารถดักกรองตะกอนแขวนลอยได้อย่างชัดเจน โดยสังเกตได้จากลำต้นของพรรณไม้น้ำซึ่งมักมีตะกอนสีน้ำตาลซึ่งเป็นสารอินทรีย์เกาะอยู่ทั่วทั้งลำต้น อย่างไรก็ตามตะกอนเหล่านี้อาจทำให้ประสิทธิภาพในสังเคราะห์ด้วยแสงของพรรณไม้น้ำลดลงเพราะการจับตัวของตะกอนบนพืชน้ำจะบดบังแสงที่ส่องลงมาได้