งานวิจัยปี 2560-2561

ยุทธศาสตร์การพัฒนาทรัพยากรธรรมชาติในหนองหารอย่างสมดุลและยั่งยืน

ที่มาและความสำคัญของงานวิจัย

    หนองหาร จังหวัดสกลนครเป็นแหล่งน้ำจืดธรรมชาติขนาดใหญ่ที่สุดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ครอบคลุมพื้นที่ถึง 77,014 ไร่ ประกอบด้วยพื้นที่ผิวน้ำและเกาะหรือดอนต่างๆ ซึ่งถือเป็นแหล่งทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญในการดำรงชีวิตของผู้คนโดยรอบ ทั้งยังมีความหลากหลายทางชีวภาพของพืชและสัตว์ที่น่าสนใจ อย่างไรก็ตามในสภาวะปัจจุบันมี่มีการขยายตัวของชุมชนเมืองและความต้องการใช้ประโยชน์จากธรรมชาติมากขึ้น หนองหารมีการเปลี่ยนแปลงทางด้านกายภาพของพื้นที่และตัวทรัพยากรเองโดยพบปัญหาเกิดขึ้นภายในพื้นที่มากมายทั้งทางด้านสิ่งแวดล้อม ทรัพยากร หรือชุมชน ซึ่งมีความซับซ้อนและเปราะบางและการเปลี่ยนแปลงบางอย่างจะส่งผลกระทบต่อยอดเป็นลำดับไปสู่ผู้เกี่ยวข้องโดยเฉพาะชุมชนรอบหนองหารซึ่งใกล้ชิดและเป็นผู้ใช้ประโยชน์โดยตรง

    ในช่วงสองปีที่ผ่านมา ทางคณะผู้วิจัยได้ดำเนินการศึกษาเบื้องต้นด้านทรัพยากรประมงและสิ่งแวดล้อมทางน้ำในหนองหาร และได้ทราบถึงฐานข้อมูลทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมทางน้ำ โดยผลการศึกษาที่ผ่านมานั้นแสดงให้เห็นว่าหนองหารยังมีศักยภาพในการเป็นแหล่งทรัพยากรประมงที่มีความอุดมสมบูรณ์ อย่างไรก็ตาม การศึกษาด้านทรัพยากรและระบบนิเวศทางน้ำจำเป็นต้องมีการติดตามการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่องทั้งในด้านของความอุดมสมบูรณ์และปัญหาด้านความเสื่อมโทรมและมลพิษที่อาจเกิดขึ้นตามระยะเวลาเพื่อให้เกิดการพัฒนาและอนุรักษ์อย่างเป็นรูปธรรมต่อไป

    โครงการวิจัยนี้จึงดำเนินงานศึกษาติดตามสถานภาพของแหล่งน้ำในแง่ของสิ่งแวดล้อมทางน้ำและทรัพยากรอย่างต่อเนื่อง โดยใช้หลักการบูรณาการองค์ความรู้ในหลายด้านเข้าด้วยกันเพื่อกำหนดแนวทางในการพัฒนาหนองหารทั้งด้านการเฝ้าระวังแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมทางน้ำ การรับมือกับวิกฤตการณ์อุทกภัยหรือภัยธรรมชาติ การรักษาหรือเพิ่มกำลังผลิตของทรัพยากร และการใช้ประโยชน์พื้นที่หนองหารอย่างยั่งยืน โดยการมีส่วนร่วมของหน่วยงานภาครัฐ เอกชน และภาคประชาชนซึ่งถือเป็นกำลังสำคัญในการที่จะสร้างจิตสำนึกที่ดีร่วมกันในการอนุรักษ์หนองหารเอาไว้เป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความอุดมสมบูรณ์และมีคุณค่าทางธรรมชาติและประวัติศาสตร์ของชาวสกลนครต่อไป

โครงการย่อย: การติดตามสถานภาพสิ่งแวดล้อมทางน้ำ การเปลี่ยนแปลงตามฤดูกาล และความสัมพันธ์กับทรัพยากรชีวภาพทางน้ำ

ที่มาและความสำคัญ

    สถานภาพสิ่งแวดล้อมทางน้ำถือเป็นปัจจัยสำคัญมากที่สุดในการศึกษาระบบนิเวศแหล่งน้ำ เนื่องจากสิ่งมีชีวิตตั้งแต่ผู้ผลิตขั้นต้นจนถึงผู้บริโภคลำดับสุดท้ายอย่างมนุษย์ได้รับอิทธิพลจากการเปลี่ยนแปลงของคุณภาพน้ำหรือดินตะกอนอันเป็นที่อยู่อาศัยและแหล่งพลังงานอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ การศึกษาสถานภาพสิ่งแวดล้อมทางน้ำและการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นตามเวลาจึงมีความสำคัญเพื่อบ่งชี้สถานการณ์ของแหล่งน้ำและผลที่อาจเกิดต่อทรัพยากรทางน้ำ โดยเฉพาะปัจจัยชี้วัดทางมลพิษหรือความอุดมสมบูรณ์ที่สำคัญ ได้แก่ ปริมาณออกซิเจนละลายน้ำหรือปริมาณคลอโรฟิลล์ เอ เป็นต้น
    หนองหารเป็นแหล่งน้ำจืดขนาดใหญ่ที่มีพื้นที่มากถึง 77,014 ไร่ และมีลักษณะภูมิประเทศและอุทกวิทยาซึ่งอาจแตกต่างกันไปตามการใช้ประโยชน์ ความแตกต่างดังนี้ส่งผลต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมที่ปรากฏในพื้นที่ต่างๆ ด้วย การพิจารณาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแบ่งตามเขตพื้นที่จึงควรดำเนินการควบคู่ไปกับการศึกษาการเปลี่ยนแปลงตามเวลา เพื่อให้ทราบถึงพื้นที่ที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดมลพิษหรือพื้นที่ที่มีโอกาสพัฒนาผลผลิตสัตว์น้ำหรือเขตอนุรักษ์จำเพาะได้
    การศึกษาในครั้งนี้จะทำให้ทราบถึงธรรมชาติของหนองหารได้ดีขึ้นจากตัวชี้วัดด้านคุณภาพน้ำหรือดินตะกอน การเปลี่ยนแปลงตามฤดูกาลซึ่งอาจส่งผลต่อทรัพยากรทางน้ำ โดยเฉพาะผลกระทบที่เกิดขึ้นจากวิกฤตการณ์น้ำท่วมครั้งใหญ่ในจังหวัดสกลนคร พ.ศ. 2560 เพื่อประโยชน์ในการเฝ้าระวังปัญหามลพิษหรือใช้เป็นแนวทางฟื้นฟูสภาพหนองหาร ทั้งนี้การติดตามสถานภาพของทรัพยากรทางน้ำต่างๆ สามารถเชื่อมโยงไปสู่การพัฒนาพื้นที่อนุรักษ์ทรัพยากรได้ในอนาคต