การเปรียบเทียบเชิงปริมาณของแพลงก์ตอนสัตว์ในรอบปี พบว่าในเดือนตุลาคม 2560 มีปริมาณแพลงก์ตอนสัตว์มากที่สุด โดยมีความแตกต่างจากอีกสองเดือนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (P < 0.05) และเมื่อวิเคราะห์เปรียบเทียบระหว่างพื้นที่แล้ว จากตารางที่ 8 แสดงความหนาแน่นของแพลงก์ตอนสัตว์ที่พบในแต่ละสถานีศึกษา เดือนตุลาคม 2559 พบว่าสถานีที่มีจำนวนแพลงก์ตอนสัตว์มากที่สุดได้แก่ สถานี NH2 และ NH9 มีความหนาแน่น 1,081 และ 1,026 ตัวต่อลิตร ตามลำดับ ซึ่งสำหรับ NH9 นั้นเป็นไปในทิศทางเดียวกับปริมาณแพลงก์ตอนพืชที่มีจำนวนมากเช่นกัน ในทางตรงกันข้ามกับสถานี NH11 ที่พบความหนาแน่นของแพลงก์ตอนสัตว์น้อยที่สุดเพียง 68 ตัวต่อลิตรเท่านั้น ซึ่งสอดคล้องกับกำลังผลิตขั้นต้นคือแพลงก์ตอนพืชที่มีปริมาณน้อยเช่นกัน
ในขณะที่เดือนกุมภาพันธ์ 2560 (ตารางที่ 9) สถานี NH11 กลับพบว่ามีปริมาณแพลงก์ตอนสัตว์มากที่สุดที่ 378 ตัวต่อลิตร ซึ่งสอดคล้องกับปริมาณแพลงก์ตอนพืชที่มากเป็นลำดับที่สามจากสถานีศึกษาทั้งหมด และเมื่อเข้าสู่เดือนมิถุนายน 2560 ปริมาณแพลงก์ตอนสัตว์ในสถานี NH11 ก็จะกลับมาลดลงต่ำเหมือนในช่วงเดือนตุลาคม 2559 (ตารางที่ 10) แสดงให้เห็นถึงอิทธิพลของลักษณะทางอุทกวิทยาที่มีต่อพื้นที่นี้อย่างมาก การมีน้ำไหลหลากเข้ามาในช่วงฤดูฝนทำให้แพลงก์ตอนพืชและแพลงก์ตอนสัตว์ไม่สามารถคงอยู่ในพื้นที่ได้โดยจะถูกพัดพาไปตามกระแสน้ำ ในขณะที่เมื่อเข้าสู่ช่วงแล้ง การที่พื้นที่มีลำน้ำไหลเข้ามาตลอดทั้งปี แม้ปริมาตรน้ำไหลเข้าจะน้อยกว่าในช่วงน้ำหลากมาก แต่การมีมวลน้ำซึ่งมีธาตุอาหารถ่ายเทเข้ามาถือเป็นปัจจัยที่มีความสำคัญในการเพิ่มกำลังผลิตขั้นต้นและขั้นที่สองให้แก่แหล่งน้ำได้
เมื่อพิจารณาสัดส่วนเชิงปริมาณของแพลงก์ตอนสัตว์ในแต่ละกลุ่มไฟลัม (ภาพที่ 27) จะพบว่ากลุ่มโรติเฟอร์มีสัดส่วนเชิงปริมาณมากที่สุดในเดือนตุลาคม 2559 และเดือนมิถุนายน 2560 ขณะที่เดือนกุมภาพันธ์ 2560 กลับพบว่าจำนวนของโรติเฟอร์ลดลงไป ทั้งนี้ แพลงก์ตอนสัตว์กลุ่มที่มีจำนวนคงที่มากที่สุดตลอดระยะเวลาในรอบปี ได้แก่กลุ่มของโปรโตซัว ซึ่งเป็นสัตว์เซลล์เดียวที่มีการดำรงชีวิตแบบพื้นฐานและสามารถแพร่กระจายพันธุ์ได้ดีในทุกสภาพสิ่งแวดล้อม