สัตว์พื้นท้องน้ำ

สัตว์พื้นท้องน้ำ

    สัตว์พื้นท้องน้ำหรือสัตว์หน้าดินที่อาศัยอยู่ตามพื้นท้องน้ำหรือฝังตัวขุดรูอยู่ในพื้นทรายหรือโคลนนั้นมีความสำคัญอย่างยิ่งในด้านการเป็นอาหารที่สำคัญของสัตว์น้ำ บางชนิดเป็นผู้ล่าที่ควบคุมประชากรในระบบนิเวศและทำหน้าที่เป็นผู้ย่อยสลายสารอินทรีย์ที่สะสมอยู่บริเวณพื้นท้องน้ำ นอกจากนี้สัตว์พื้นท้องน้ำหลายกลุ่มยังสามารถใช้เป็นตัวบ่งชี้คุณภาพของแหล่งน้ำที่สัตว์เหล่านั้นอยู่อาศัยได้อีกด้วย
    การศึกษาชนิดและปริมาณสัตว์พื้นท้องน้ำ ดำเนินการเก็บตัวอย่างสัตว์บริเวณผิวหน้าดินและสัตว์ที่ฝังตัวอยู่ใต้พื้นท้องน้ำ โดยใช้อุปกรณ์เก็บดิน (Petersen Grab) แสดงในภาพด้านล่าง รวมทั้งเก็บตัวอย่างสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังขนาดใหญ่ที่อาศัยเกาะอยู่ตามพรรณไม้น้ำใต้น้ำด้วยการใช้สวิงล้อมกวาด ซึ่งวิธีการเก็บตัวอย่างทั้งสองวิธีสามารถนำมาคำนวณหาปริมาณของสัตว์พื้นท้องน้ำต่อหน่วยพื้นที่ที่แน่นอนได้
การเก็บตัวอย่างสัตว์พื้นท้องน้ำในพื้นที่หนองหาร จังหวัดสกลนคร

สัตว์พื้นท้องน้ำชนิดต่างๆ ที่พบในหนองหาร

01-ไส้เดือนน้ำจืด-y

ไส้เดือนน้ำจืด

02-ไส้เดือนน้ำจืด-2-y

ไส้เดือนน้ำจืด

03-ปลิงควาย-y

ปลิงควาย

04-ตัวอ่อนแมลงชีปะขาวเหงือกกระโปรง-y

ตัวอ่อนแมลงชีปะขาวเหงือกกระโปรง

05-ตัวอ่อนแมลงชีปะขาว-y

ตัวอ่อนแมลงชีปะขาว

06-ตัวอ่อนแมลงปอเข็ม-y

ตัวอ่อนแมลงปอเข็ม

07-ตัวอ่อนแมลงปอบ้าน-y

ตัวอ่อนแมลงปอบ้าน

08-ตัวอ่อนแมลงปอเสือ-y

ตัวอ่อนแมลงปอเสือ

09-แมลงดาสวน-y

แมลงดาสวน

10-แมลงดาสวน-2-y

แมลงดาสวน

11-มวนน้ำ-y

มวนน้ำ

12-มวนเข็ม-y

มวนเข็ม

13-จิงโจ้น้ำ-y

จิงโจ้น้ำ

14-หนอนปลอกน้ำ-y

หนอนปลอกน้ำ

15-หนอนปลอกน้ำ-2-y

หนอนปลอกน้ำ

16-ด้วงน้ำ-y

ด้วงน้ำ

17-ตัวอ่อนด้วงน้ำ-y

ตัวอ่อนด้วงน้ำ

18-ตัวอ่อนริ้นน้ำจืด-y

ตัวอ่อนริ้นน้ำจืด

19-ตัวอ่อนร้ินน้ำกร่อย-y

ตัวอ่อนร้ินน้ำกร่อย

20-ตัวอ่อนร้ินน้ำเค็ม-y

ตัวอ่อนริ้นน้ำเค็ม

21-ลูกน้ำยุงลาย-y

ลูกน้ำยุงลาย

22-ไรน้ำกาบหอย-y

ไรน้ำกาบหอย

23-ไอโซพอด,-หมัดปลา-y

ไอโซพอด, หมัดปลา

24-กุ้งฝอย-y

กุ้งฝอย

25-หอยขม-y

หอยขม

26-หอยเวียน-y

หอยเวียน

27-หอยเชอรี่-y

หอยเชอรี่

28-หอยขมจิ๋ว-หอยไซ-y

หอยขมจิ๋ว, หอยไซ

29-หอยเจดีย์-y

หอยเจดีย์

30-หอยนักล่า-y

หอยนักล่า

31-หอยคัน-y

หอยคัน

32-หอยคัน-2-y

หอยคัน

33-หอยกาบ-y

หอยกาบ

34-หอยกาบแหลม-หอยเงี๊ยบ-y

หอยกาบแหลม, หอยเงี๊ยบ

35-หอยกาบอ้วน-y

หอยกาบอ้วน

36-หอยกาบ-2-y

หอยกาบ

37-หอยกาบลาย-y

หอยกาบลาย

38-หอยทราย,-หอยขวาน-y

หอยทราย, หอยขวาน

39-หอยทราย,-หอยขวาน-2-y

หอยทราย, หอยขวาน

    จากการวิเคราะห์องค์ประกอบของสัตว์พื้นท้องน้ำในพื้นที่ศึกษาทั้งหมดในรอบปี พบสัตว์พื้นท้องน้ำทั้งหมด 3 ไฟลัม (Phylum) 6 ชั้น (Class) 17 อันดับ (Order) 35 วงศ์ (Family) ซึ่งการวิเคราะห์องค์ประกอบสัตว์พื้นท้องน้ำตามหลักอนุกรมวิธานสามารถสรุปได้ดังตารางที่ 11
    เมื่อพิจารณาองค์ประกอบทางชนิดของสัตว์พื้นท้องน้ำ จะพบว่าสัตว์ในไฟลัม Arthropoda ซึ่งเป็นสัตว์ที่มีลักษณะขาเป็นข้อปล้อง มีความหลากหลายทางชนิดมากที่สุด โดยประกอบด้วยสัตว์พื้นท้องน้ำมากถึง 9 อันดับ 23 วงศ์ กลุ่มที่มีความหลากหลายมากที่สุดคือ Class Insecta ได้แก่แมลงและตัวอ่อนของแมลงต่างๆ ซึ่งถือเป็นสัตว์ที่มีจำนวนชนิดและมีประชากรมากที่สุดในโลก และรองลงมาได้แก่สัตว์ในไฟลัม Mollusca คือกลุ่มของหอยฝาเดียว (Gastropoda) และหอยสองฝา (Bivalvia) สัตว์พื้นท้องน้ำกลุ่มต่างๆ ที่พบในหนองหาร แสดงในภาพที่ 29
    การศึกษาสัตว์พื้นท้องน้ำเชิงปริมาณในหนองหาร รวบรวมข้อมูลจากสถานีศึกษา 12 สถานีโดยรอบหนองหาร โดยจำแนกข้อมูลออกเป็นความหนาแน่นของสัตว์ที่อาศัยบริเวณผิวหน้าดินหรือฝังตัวอยู่ใต้พื้นท้องน้ำ (ตารางที่ 12, 13 และ 14) และสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังที่อาศัยเกาะอยู่ตามพรรณไม้น้ำ (ตารางที่ 15, 16 และ 17)
    ผลการสำรวจในบริเวณผิวหน้าดินและในดินพื้นท้องน้ำ ในเดือนตุลาคม 2559 พบสัตว์พื้นท้องน้ำทั้งหมด 14 วงศ์ อยู่ใน Phylum Annelida 2 วงศ์, Phylum Arthropoda 9 วงศ์ และ Phylum Mollusca 3 วงศ์ ในเดือนกุมภาพันธ์ 2560 พบสัตว์พื้นท้องน้ำทั้งหมด 22 วงศ์ อยู่ใน Phylum Annelida 2 วงศ์, Phylum Arthropoda 14 วงศ์ และ Phylum Mollusca 6 วงศ์ ในเดือนมิถุนายน 2560 พบสัตว์พื้นท้องน้ำทั้งหมด 10 วงศ์ อยู่ใน Phylum Annelida 2 วงศ์, Phylum Arthropoda 6 วงศ์ และ Phylum Mollusca 2 วงศ์ สัตวพื้นท้องน้ำที่พบเป็นกลุ่มเด่น ได้แก่ ตัวอ่อนริ้นใน Order Diptera (Phylum Arthropoda) ซึ่งเป็นตัวอ่อนของริ้นน้ำจืดหรือมักเรียกกันว่าหนอนแดง และริ้นน้ำเค็มหรือปึ่ง ตัวอ่อนแมลงในอันดับนี้สามารถบ่งชี้คุณภาพของน้ำที่มีการปนเปื้อนสารอินทรีย์อยู่ได้ โดยกลุ่มตัวอ่อนริ้นสามารถทนทานได้ในสภาพที่มีออกซิเจนต่ำได้ดี จึงสามารถพบได้ในแหล่งน้ำทั่วไปจนถึงแหล่งน้ำเน่าเสียมาก นอกจากนี้ยังพบไส้เดือนน้ำจืด (Oligochaetes) ซึ่งสามารถแสดงคุณภาพน้ำที่มีสารอินทรีย์สะสมอยู่ได้ จากผลการศึกษาพบว่า ในเดือนมิถุนายน 2560 จะมีชนิดและปริมาณของสัตว์พื้นท้องน้ำน้อยกว่าในเดือนอื่นๆ เนื่องจากสัตว์บริเวณพื้นท้องน้ำจะถูกพัดพาไปกับการหลากของน้ำตามฤดูกาล
    ผลการสำรวจสัตว์ไม่กระดูกสันหลังที่อาศัยเกาะตามพรรณไม้น้ำ ในเดือนตุลาคม 2559 พบสัตว์ทั้งหมด 19 วงศ์ อยู่ใน Phylum Annelida 1 วงศ์, Phylum Arthropoda 13 วงศ์ และ Phylum Mollusca 5 วงศ์ ในเดือนกุมภาพันธ์ 2560 พบสัตว์ทั้งหมด 27 วงศ์ อยู่ใน Phylum Annelida 2 วงศ์, Phylum Arthropoda 19 วงศ์ และ Phylum Mollusca 6 วงศ์ ในเดือนมิถุนายน 2560 พบสัตว์ทั้งหมด 17 วงศ์ อยู่ใน Phylum Annelida 2 วงศ์, Phylum Arthropoda 13 วงศ์ และ Phylum Mollusca 2 วงศ์ กลุ่มของสัตว์ที่พบมากที่สุดได้แก่ กุ้งฝอย (Macrobrachium lanchesteri) รองลงมาได้แก่พวกแมลงและตัวอ่อนแมลงต่างๆ ได้แก่ มวนน้ำ ตัวอ่อนแมลงปอ ตัวอ่อนแมลงชีปะขาว และแมลงดาสวน โดยลักษณะทางกายภาพของแหล่งอาศัยที่เป็นกอพรรณไม้น้ำนี้มีความเหมาะสมในการดำรงชีวิตของสัตว์ในกลุ่มนี้ ซึ่งหาอาหารโดยการล่าสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กกว่าหรือการกินสาหร่ายและตะไคร่น้ำเป็นอาหาร นอกจากเป็นแหล่งอาหารแล้วบริเวณที่มีพรรณไม้น้ำหนาแน่นยังเป็นพื้นที่หลบซ่อนตัวจากผู้ล่า เป็นแหล่งวางไข่เจริญพันธุ์ที่ดี เนื่องจากโดยส่วนมากบริเวณที่มีพรรณไม้น้ำหนาแน่นจะมีน้ำที่นิ่งและมีตะกอนตกทับถมมากด้วย โดยสถานีที่มีจำนวนวงศ์ของสัตว์มากที่สุด ได้แก่สถานี NH5 ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของหนองหาร ซึ่งเป็นอ่าวเปิดที่มีพรรณไม้น้ำหนาแน่นมาก จนทับถมกันเป็นพื้นท้องน้ำเหลวนิ่ม มีปริมาณน้ำในดินตะกอนมากกว่าร้อยละ 90 และสารอินทรีย์ในดินตะกอนมากกว่าร้อยละ 20
    เมื่อพิจารณาเปรียบเทียบเชิงคุณภาพระหว่างสัตว์ที่อาศัยบริเวณผิวหน้าดินหรือฝังตัวอยู่ใต้พื้นท้องน้ำ และสัตว์ที่อาศัยเกาะอยู่ตามพรรณไม้น้ำ โดยแหล่งอาศัยที่มีลักษณะแตกต่างกันนี้ทำให้พบชนิดพันธุ์สัตว์ที่มีความแตกต่างกันออกไปด้วยตามลักษณะทางสรีระ การดำรงชีวิตและหาอาหาร เช่น กลุ่มหอยสองฝา เป็นกลุ่มสัตว์ที่ส่วนใหญ่แล้วกินอาหารแบบกรองกินตะกอนอินทรีย์ ซึ่งพบเฉพาะในผิวหน้าดินหรือในมวลดินเท่านั้น แต่จะไม่พบว่าอยู่อาศัยตามกอพรรณไม้น้ำ ขณะที่สามารถพบมวนเข็ม จิงโจ้น้ำ หรือลูกน้ำยุงได้ในบริเวณกอพรรณไม้น้ำที่อยู่ใกล้กับผิวน้ำมากกว่า อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาโดยภาพรวมแล้ว แม้ว่าความหลากหลายของสัตว์ในบริเวณกอพรรณไม้น้ำจะมีมากกว่าบริเวณผิวหน้าดิน แต่ก็จะพบชนิดสัตว์ที่มีความคล้ายคลึงกันเป็นส่วนใหญ่ในทั้งสองบริเวณที่ศึกษา เนื่องจากหนองหารเป็นแหล่งน้ำที่ค่อนข้างตื้น จึงทำให้บริเวณที่เก็บตัวอย่างสัตว์บริเวณผิวหน้าดินและกอพรรณไม้น้ำมีระยะห่างที่ไม่สูงจากกันมากและสัตว์น้ำอาจมีการเคลื่อนย้ายจากบริเวณหนึ่งไปอีกบริเวณหนึ่งได้
    พื้นที่ที่มีความหลากหลายทางชนิดและปริมาณของสัตว์พื้นท้องน้ำที่ค่อนข้างมากและมีลักษณะของพื้นที่ที่น่าสนใจ ได้แก่ สถานี NH11 จุดเชื่อมต่อกับลำน้ำพุง เป็นระบบนิเวศที่มีน้ำไหลตลอดปีและพื้นท้องน้ำเป็นกรวดและทรายที่ถูกกระแสน้ำพัดพามาทับถม ทำให้มีสารอินทรีย์เข้ามาหมุนเวียนในบริเวณนี้ด้วย จึงถือเป็นจุดที่สามารถพบสิ่งมีชีวิตได้ในหลายกลุ่มทั้งกลุ่มของหนอนปลอกน้ำใน Order Trichoptera ซึ่งโดยส่วนใหญ่จะพบได้ในลำธารที่มีน้ำไหลแรง มีความสะอาดและสามารถบ่งชี้สภาพแหล่งน้ำที่ดีเพราะไวต่อความเปลี่ยนแปลง และอาจหายไปจากพื้นที่หากคุณภาพน้ำเปลี่ยนแปลงไป รวมทั้งกลุ่มที่ทนทานต่อสภาพแวดล้อมในช่วงกว้างอย่างริ้นน้ำจืด และจุดที่น่าสนใจในสถานี NH11 คือมีหอยสองฝาอาศัยอยู่ในปริมาณมาก ซึ่งแม้จะพบหอยสองฝาในการสุ่มตัวอย่างจากอุปกรณ์เก็บดินไม่มากนัก แต่จากการสำรวจโดยรอบพื้นที่ปากลำน้ำพุงนี้จะพบหอยสองฝาหลากหลายชนิด ได้แก่ หอยกาบแหลม (Ensidens sp.) หอยกาบอ้วน (Uniandra sp.) หอยกาบลาย (Scabies sp.) และหอยทราย (Corbicula sp.) ซึ่งสามารถนำมาบริโภคและนำเปลือกไปใช้ประโยชน์อย่างอื่นได้ ทั้งนี้ ลักษณะทางกายภาพของพื้นที่ปากลำน้ำพุง มีความเหมาะสมในการอยู่อาศัยของพวกหอยสองฝา ซึ่งต้องกินอาหารโดยการกรองตะกอนสารอินทรีย์ผ่านมวลน้ำที่มีการไหล และหอยเหล่านี้สามารถฝังตัวอยู่ในพื้นท้องน้ำที่ไม่แข็งหรืออ่อนนุ่มจนเกินไป

 

    จากตารางแสดงความหนาแน่นของสัตว์พื้นท้องน้ำที่อาศัยบริเวณผิวหน้าดินหรือฝังตัวอยู่ในดินพื้นท้องน้ำ โดยเฉพาะในเดือนมิถุนายน 2560 (ตารางที่ 17) พบว่ามีสัตว์พื้นท้องน้ำอยู่น้อยมากและในบางพื้นที่ก็ไม่พบสัตว์พื้นท้องน้ำเลย ซึ่งเกิดจากอิทธิพลของฤดูกาลที่มีน้ำหลากเข้ามาสู่พื้นที่ในช่วงต้นฤดูฝน เมื่อระดับน้ำเพิ่มขึ้นและมีการพัดพาตะกอนหน้าดิน ทำให้สัตว์ไม่สามารถอยู่ในพื้นที่ได้ รวมทั้งสภาพทั่วไปของพื้นท้องน้ำหนองหาร ซึ่งผิวหน้าดินปกคลุมไปด้วยพรรณไม้น้ำอย่างหนาแน่น ทั้งต้นที่ยังมีชีวิตอยู่และซากพรรณไม้น้ำที่ตายทับถมกันจำนวนมากจนเป็นชั้นหนา สารอินทรีย์ที่สะสมเหล่านี้หากมีปริมาณมากอาจทำให้ออกซิเจนในน้ำที่มีในบริเวณรอยต่อระหว่างดินกับน้ำลดต่ำลงจากการถูกนำไปใช้ในการย่อยสลายสารอินทรีย์ ก่อให้เกิดมลภาวะจากความเน่าเสียของพื้นท้องน้ำได้ และสภาพของพื้นท้องน้ำที่มีการทับถมของพืชน้ำดังกล่าวนี้อาจไม่เหมาะสมต่อการอยู่อาศัยของสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังหลายชนิดอีกด้วย
(a)
(b)
(c)
(d)
(e)
(f)
สัดส่วนเชิงปริมาณแสดงจำนวนของสัตว์พื้นท้องน้ำที่อาศัยบริเวณผิวหน้าดินหรือฝังตัวอยู่ในดิน (a: เดือนตุลาคม 2559, c: เดือนกุมภาพันธ์ 2560 และ e: เดือนมิถุนายน 2560) และสัตว์ที่อาศัยอยู่ตามพรรณไม้น้ำ (b: เดือนตุลาคม 2559, d: เดือนกุมภาพันธ์ 2560 และ f: เดือนมิถุนายน 2560)
    สัดส่วนเชิงปริมาณของสัตว์พื้นท้องน้ำเมื่อเปรียบเทียบกันในแต่ละฤดูกาล (ภาพด้านบน) พบว่าองค์ประกอบของกลุ่มสัตว์ที่อาศัยอยู่ตามพรรณไม้น้ำจะมีการเปลี่ยนแปลงน้อยกว่าสัตว์ที่อาศัยบริเวณผิวหน้าดินหรือฝังตัวอยู่ในดิน โดยมีกลุ่มหลักได้แก่ Phylum Arthropoda ซึ่งพบทั้งแมลงน้ำและกุ้งในปริมาณมากในทุกฤดูกาล เนื่องพรรณไม้น้ำในหนองหารมีหนาแน่นในทุกฤดูกาลโดยเฉพาะพืชใต้น้ำ (submerged plants) ที่คงยึดรากอยู่กับที่ไม่ได้ถูกกระแสลมพัดพาไปเหมือนพืชลอยน้ำ (floating plants) สำหรับในส่วนของสัตว์ที่อาศัยบริเวณผิวหน้าดินหรือฝังตัวอยู่ในดินจะมีกลุ่มที่ผันแปรไปตามฤดูกาลได้แก่ Phylum Annelida และ Phylum Mollusca ซึ่งมีสัตว์หลายชนิดดำรงชีวิตอยู่ในมวลดินเท่านั้นและไม่พบเกาะตามพรรณไม้น้ำ เช่น หอยสองฝา (Class Bivalvia)
    ผลการศึกษาสัตว์พื้นท้องน้ำและสัตว์ที่อาศัยเกาะอยู่ตามพรรณไม้น้ำในรอบปี แสดงให้เห็นว่าทรัพยากรชีวภาพของแหล่งน้ำหนองหารยังคงมีอยู่ในแต่ละพื้นที่ และเป็นทรัพยากรทางน้ำที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ทั้งทางตรงและทางอ้อม ซึ่งสัตว์น้ำหลายชนิดนั้นสามารถนำมาบริโภคและสร้างรายได้ เช่น ตัวอ่อนแมลง กุ้งฝอย หอยสองฝา หรือแม้แต่ปลิงดูดเลือด ซึ่งปัจจุบันมีประชาชนเข้ามาจับปลิงขายโดยสามารถขายได้ในราคาที่สูง
    ชนิดของสัตว์พื้นท้องน้ำที่พบในหนองหารสามารถสะท้อนลักษณะทางกายภาพ เคมีและชีวภาพของหนองหารได้เป็นอย่างดี การพบหนอนริ้นน้ำจืดและไส้เดือนน้ำจืดเป็นชนิดเด่นบริเวณพื้นท้องน้ำแสดงให้เห็นว่าหนองหารมีปริมาณสารอินทรีย์สะสมอยู่อย่างมากในบริเวณพื้นท้องน้ำ และหากมีการทับถมสะสมอยู่เรื่อยๆ อาจทำให้เกิดความเสื่อมโทรมลงของระบบนิเวศพื้นท้องน้ำ และส่งผลกระทบแพร่ขยายสู่คุณภาพน้ำที่อยู่ด้านบนต่อไปได้ในอนาคต การจัดการปัญหาจากต้นเหตุซึ่งได้แก่การปล่อยธาตุอาหารหรือของเสียลงสู่แหล่งน้ำ จึงเป็นแนวทางป้องกันที่ควรตระหนักถึงเป็นอันดับแรก
    นอกจากนี้ การใช้สัตว์พื้นท้องน้ำเป็นตัวบ่งชี้คุณภาพแหล่งน้ำควบคู่ไปกับการตรวจวัดคุณภาพน้ำทางกายภาพและเคมีนั้น เป็นที่นิยมและได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวาง เนื่องจากมีวิธีการที่ไม่ยุ่งยากและสามารถใช้เครื่องมือที่หาได้ในชีวิตประจำวัน ทั้งนี้ด้วยคุณสมบัติเฉพาะของสัตว์พื้นท้องน้ำที่มีขนาดใหญ่ตรวจพบได้ง่าย เคลื่อนที่ได้น้อย อยู่ในสถานที่เดียว มีความไวต่อการถูกรบกวนและฟื้นตัวช้า ถือว่ามีความเหมาะสมอย่างยิ่งที่ภาคประชาชน หรือนักเรียน นักศึกษา จะนำไปใช้ในการดูแลเฝ้าระวังแหล่งน้ำในชุมชนของตนเองให้มีสุขภาพที่ดีต่อไป