ทรัพยากรปลา

    ปลาเป็นทรัพยากรสัตว์น้ำที่สำคัญในด้านการเป็นอาหารที่อยู่คู่กับวิถีชีวิตคนไทยมาอย่างยาวนาน การทำประมงจึงเป็นอาชีพที่สามารถพบได้ในแหล่งน้ำทั่วประเทศ การมีทรัพยากรปลาปริมาณมากแสดงถึงความอุดมสมบูรณ์ของแหล่งน้ำได้อย่างชัดเจน สำหรับแหล่งน้ำหนองหารนั้น การเพิ่มผลผลิตทางการประมงและการอนุรักษ์ทรัพยากรประมงนั้น ถือเป็นวัตถุประสงค์หลักที่ก่อให้เกิดการพัฒนาหนองหารด้านต่างๆ การศึกษาชนิดและ ปริมาณปลาในพื้นที่หนองหารโดยใช้อวนทับตลิ่งดังรูปภาพด้างล่าง
การศึกษาชนิดและปริมาณปลาในพื้นที่ศึกษาหนองหารโดยใช้อวนทับตลิ่ง

ชนิดปลาที่พบในพื้นที่บริเวณหนองหาร

ปลากราย (Chitala ornata)

ปลาสลาด (Notopterus notopterus)

ปลาซิวแก้ว (Clupeichthys aesarnensis)

ปลาตะเพียนขาว (Barbonymus gonionotus)

ปลาไส้ตันตาแดง (Cyclocheilichthys apogon)

ปลาเล็บมือนาง (Crossocheilus reticulates)

ปลาซิวหนวดยาว (Esomus metallicus)

ปลากระสูบจุด (Hampala dispar)

ปลากระสูบขีด (Hampala macrolepidota)

ปลาสร้อยขาว (Henicorhynchus siamensis)

ปลาซ่า (Labiobarbus spilopluera)

ปลาสร้อยนกเขา (Osteochilus hasselti)

ปลาสร้อยนกเขาหน้าหมอง (Osteochilus lini)

ปลากะมัง (Puntioplites proctozysron)

ปลาตะเพียนจุด (Puntius aurotaenia)

ปลาตะเพียนบึง (Puntius brevis)

ปลาซิวหางแดง (Rasbora borapetensis)

ปลาซิวหางกรรไรเล็ก (Rasbora spilocerca)

ปลาชะโอน (Ompok bimaculatus)

ปลากดเหลือง (Hemibagrus nemurus)

ปลาดุกด้าน (Clarias batrachus)

ปลาซิวข้าวสารแคระ (Oryzius minutillus)

ปลากระทุงเหว (Xenentodon cancila)

ปลาไหลนา (Monopterus albus)

ปลาหลดลาย (Macrognathus semiocellatus)

ปลาหลดจุด (Macrognathus siamensis)

ปลากระทิง (Mastacembelus favus)

ปลาหลดแคระ (Chaudhuria caudata)

ปลาแป้นแก้ว (Parambassis siamensis)

ปลานิล (Oreochromis niloticus)

ปลาดุมชี (Nandus oxyrhynchus)

ปลาหมอช้างเหยียบ (Pristolepis fasciata)

ปลาบู่ทราย (Oxyeleotris marmorata)

ปลาสลิด (Trichogaster pectoralis)

ปลากระดี่หม้อ (Trichogaster trichopterus)

ปลากริมอีสาน (Trichopsis schalleri)

ปลากริมควาย (Trichopsis vittatus)

ปลาช่อน (Channa striata)

ปลาปักเป้า (Pao leiurus)

ปลาปักเป้าบึง (Pao palustris)

    ผลการสำรวจทรัพยากรปลาด้วยเครื่องมืออวนทับตลิ่ง ในเดือนมิถุนายน 2559 พบปลาทั้งหมด 14 วงศ์ (Family) 25 สกุล (Genus) 32 ชนิด (Species), เดือนตุลาคม 2559 พบปลาทั้งหมด 14 วงศ์ (Family) 25 สกุล (Genus) 30 ชนิด (Species) เดือนกุมภาพันธ์ 2560 พบปลาทั้งหมด 15 วงศ์ (Family) 25 สกุล (Genus) 33 ชนิด (Species) และเดือนมิถุนายน 2560 พบปลาทั้งหมด 14 วงศ์ (Family) 19 สกุล (Genus) 23 ชนิด (Species) โดยชนิดปลาที่พบในแต่ละช่วงการสำรวจ ดังตารางที่ 18, 19, 20 และ 21 และภาพที่ 32 ตามลำดับ
    การศึกษาเชิงปริมาณของปลาที่พบในแต่ละสถานีศึกษา ในเดือนมิถุนายน 2559 พบว่า สถานี NH4, NH8 และ NH9 พบจำนวนของปลามากที่สุด เท่ากับ 344, 314 และ 221 ตัวต่อ 100 ตารางเมตร ตามลำดับ (ตารางที่ 22) โดยชนิดของปลาที่พบได้มากที่สุดคือ ปลากริมอีสาน ปลาแป้นแก้ว และปลาซิวหางแดง โดยเฉพาะปลากริมอีสาน เป็นชนิดที่ชอบอาศัยอยู่ตามแหล่งน้ำที่มีพรรณไม้น้ำอยู่อย่างหนาแน่น สถานีที่มีผลจับของปลาน้อยที่สุด ได้แก่สถานี NH2 ซึ่งอาจได้รับผลกระทบจากปริมาณออกซิเจนที่ลดต่ำลงมากในช่วงเวลาดังกล่าว

 

    ในเดือนตุลาคม 2559 พบว่าสถานี NH9 NH11 และ NH10 มีจำนวนปลามากที่สุด เท่ากับ 66, 58 และ 57 ตัวต่อ 100 ตารางเมตร ตามลำดับ (ตารางที่ 23) ซึ่งถือว่ามีจำนวนปลาน้อยกว่าในเดือนอื่นๆ มาก โดยปลากริมอีสานและปลาซิวหางแดง เป็นชนิดที่พบมากที่สุดเช่นเดียวกับเดือนมิถุนายน

 

    ในเดือนกุมภาพันธ์ 2560 พบว่าสถานี NH11 และ NH10 และ NH6 มีจำนวนปลามากที่สุด เท่ากับ 342, 258 และ 240 ตัวต่อ 100 ตารางเมตร ตามลำดับ (ตารางที่ 24) โดยปลากริมอีสานและปลาซิวหางแดง เป็นชนิดที่พบมากที่สุดเช่นเดียวกับเดือนมิถุนายนและเดือนตุลาคม 2559

 

    ในด้านความหลากหลายของชนิดปลาที่พบในแต่ละสถานี พบว่าสถานี NH11 มีความหลากหลายของชนิดปลามากที่สุดถึง 16, 17 และ 18 ชนิด ในเดือนมิถุนายนและตุลาคม 2559 และเดือนกุมภาพันธ์ 2560 ตามลำดับ โดยในช่วงเดือนที่คาบเกี่ยวกับช่วงฤดูฝนที่ลำน้ำพุงหลากลงมาสู่หนองหารนั้น กระตุ้นให้ปลาขึ้นไปยังแหล่งต้นน้ำและไปรับน้ำใหม่ที่ลงมาจากลำห้วย จึงสามารถพบปลาหลายชนิด ส่วนสถานีที่มีความหลากหลายของชนิดปลาน้อยที่สุดคือสถานี NH10, NH8, NH9 และ NH3 ในเดือนมิถุนายน 2559 เดือนตุลาคม 2559 เดือนกุมภาพันธ์ 2560 และเดือนมิถุนายน 2560 ตามลำดับ โดยพบปลาเพียง 2-3 ชนิดเท่านั้นแต่จะพบในจำนวนมาก แสดงให้เห็นถึงอิทธิพลของลักษณะทางสัณฐานและกายภาพของแหล่งน้ำที่เป็นถิ่นที่อยู่ที่มีความเหมาะสมกับปลาแต่ละกลุ่มแตกต่างกันไป
    แม้ว่าปลาในวงศ์ Cyprinidae (วงศ์ปลาตะเพียน ปลาซิว) จะมีจำนวนชนิดของปลามากที่สุดถึง 11, 12, 12 และ 6 ชนิด ในเดือนมิถุนายน 2559, เดือนตุลาคม 2559, เดือนกุมภาพันธ์ 2560 และเดือนมิถุนายน 2560 ตามลำดับ เนื่องจากเป็นวงศ์ (Family) ที่มีสมาชิกในวงศ์มากเมื่อเทียบกับปลาวงศ์อื่น แต่ปลาในวงศ์ Osphronemidae (วงศ์ปลากัด ปลากริม ปลาสลิด) ถือเป็นปลากลุ่มหลักของพื้นที่ศึกษา เนื่องจากพบจำนวนตัวในปริมาณมากและสามารถพบได้ทุกพื้นที่ในหนองหาร โดยมีจำนวนตัวคิดเป็นร้อยละ 48.7, 51.4, 50.9 และ 51.2 ของจำนวนปลาทั้งหมด ในเดือนมิถุนายน 2559, เดือนตุลาคม 2559, เดือนกุมภาพันธ์ 2560 และเดือนมิถุนายน 2560 ตามลำดับ (ภาพที่ 33 และ 34) ซึ่งโดยธรรมชาติของปลาในกลุ่มนี้มักอาศัยอยู่ในพื้นที่ที่มีพรรณไม้น้ำปกคลุมหนาแน่นซึ่งเป็นสภาพโดยส่วนใหญ่ของพื้นที่หนองหาร

 

    ปลาปักเป้า สามารถพบได้ทั่วไปในแหล่งน้ำหนองหาร เนื่องจากเป็นปลาที่ชอบหลบซ่อนตัวอยู่ตามกลุ่มพรรณไม้น้ำที่หนาแน่น เป็นปลาอีกชนิดหนึ่งที่มีความสำคัญเนื่องจากมีข่าวสารมากมายเกี่ยวกับการบริโภคปลาปักเป้า ซึ่งทำให้เสียชีวิตได้ โดยปลาปักเป้าแต่ละชนิดนั้นจะมีพิษมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับสภาพของแหล่งที่อยู่อาศัยในแต่ละแห่งด้วย การอนุมานว่าพื้นที่อื่นสามารถบริโภคได้โดยไม่เป็นอันตรายจึงบริโภคตามในพื้นที่ของตนเองนั้นไม่สมควรอย่างยิ่ง ดังนั้นจึงควรหลีกเลี่ยงการบริโภคปลาปักเป้าแม้ว่าจะใช้กรรมวิธีใดในการปรุงอาหารก็ตาม
 
มิถุนายน 2559
ตุลาคม 2559
สัดส่วนเชิงปริมาณของปลาในแต่ละวงศ์ (Family) ที่พบในเดือนมิถุนายน 2559 (บน) และเดือนตุลาคม 2559 (ล่าง) ในพื้นที่ศึกษาหนองหาร จังหวัดสกลนคร
กุมภาพันธ์ 2560
มิถุนายน 2560
สัดส่วนเชิงปริมาณของปลาในแต่ละวงศ์ (Family) ที่พบในเดือนกุมภาพันธ์และเดือนมิถุนายน 2560ในพื้นที่ศึกษาหนองหาร จังหวัดสกลนคร
    ผลการศึกษาทรัพยากรปลา แสดงให้เห็นว่า แม้ปลาชนิดหลักที่พบจำนวนมากในการศึกษาจะเป็นกลุ่มปลาที่อาจจะนำมาใช้ประโยชน์ได้น้อย แต่ในมุมมองด้านนิเวศวิทยาแหล่งน้ำแล้ว สิ่งมีชีวิตทุกชนิดในระบบนิเวศล้วนมีความสำคัญในการรักษาสมดุลตามธรรมชาติเอาไว้ นอกจากนี้ ในหนองหารยังมีปลาที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจอยู่เป็นจำนวนมาก โดยส่วนมากใช้เป็นอาหารที่บริโภคในครัวเรือน เช่น ปลาสร้อยนกเขา ปลาช่อน ปลาดุก รวมถึงปลาที่สามารถแปรรูปไปเป็นผลิตภัณฑ์อื่นๆ ได้ เช่น ปลาส้ม เป็นต้น และยังมีปลาที่สามารถนำไปเลี้ยงเพื่อความสวยงามและสร้างรายได้ เช่น ปลาซิวหางแดง ปลาซิวหางกรรไกร ปลากระทิง ทั้งนี้ ด้วยวิธีการที่ใช้เก็บตัวอย่างปลา ซึ่งใช้อวนทับตลิ่งลากในพื้นที่ตื้นและใกล้ชายฝั่ง มีพรรณไม้น้ำอยู่อย่างหนาแน่นนั้น ก็มีผลต่อชนิด ขนาด และปริมาณปลาที่ได้ด้วยเช่นกัน ซึ่งเครื่องมือจับปลาทุกประเภทจะมีข้อได้เปรียบและข้อจำกัดแตกต่างกันออกไปตามลักษณะแหล่งน้ำแต่ละแห่งด้วย