การศึกษาคุณภาพน้ำ

การศึกษาคุณภาพน้ำทั่วไป

    การศึกษาคุณภาพน้ำทั่วไป ซึ่งส่งผลต่อการใช้ประโยชน์ด้านต่างๆ และการดำรงชีวิตและการเจริญเติบโตของสัตว์น้ำ โดยใช้เครื่องวัดคุณภาพน้ำหลายตัวแปร (Multi-parameter probe) โดยตัวแปรคุณภาพน้ำที่ตรวจวัด ได้แก่ อุณหภูมิของน้ำ ค่าการนำไฟฟ้า ความเค็ม ความเป็นกรดเป็นด่างของน้ำ ปริมาณออกซิเจนละลายน้ำ และใช้จานวัดความโปร่งแสงของน้ำ (Secchi disk) เพื่อวัดค่าความโปร่งแสงที่บ่งบอกถึงความขุ่นใสของมวลน้ำได้ ผลการศึกษาคุณภาพน้ำทั่วไป ในเดือนมิถุนายน 2559 เดือนตุลาคม 2559 เดือนกุมภาพันธ์ 2560 และเดือนมิถุนายน 2560 ดังตารางที่ 1
การศึกษาคุณภาพน้ำทั่วไปโดยใช้เครื่องวัดคุณภาพน้ำหลายตัวแปร
    การเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิน้ำมีผลต่อสิ่งมีชีวิตที่อาศัยอยู่ทั้งทางด้านการปรับตัวและกระบวนการทางชีวเคมีต่างๆ ภายในร่างกายของสัตว์หรือแม้แต่พืชด้วย หากมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วเกินกว่าระดับที่สิ่งมีชีวิตปรับตัวได้ทันก็จะเกิดผลกระทบต่อการดำรงชีวิตได้ โดยทั่วไปการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิในแหล่งน้ำจะค่อยๆเปลี่ยนไม่เกิน 2-3 องศาเซลเซียส ในช่วงเวลา 24 ชั่วโมง ผลการศึกษาแสดงให้เห็นว่าในเดือนกุมภาพันธ์ 2560 จะมีอุณหภูมิของน้ำที่ต่ำกว่าเดือนอื่นๆ อย่างเห็นได้ชัด โดยมีความแตกต่างทางสถิติจากเดือนอื่นอย่างมีนัยสำคัญ (P<0.05) เนื่องจากอยู่ในช่วงฤดูหนาวที่สภาพอากาศเย็น อุณหภูมิของน้ำในแหล่งน้ำขนาดใหญ่และตื้นมักได้รับอิทธิพลจากอุณหภูมิอากาศ ในขณะที่เดือนอื่นๆ นั้นจะมีอุณหภูมิที่ไม่แตกต่างกันมาก โดยปกติอยู่ในช่วง 29-31 องศาเซลเซียส ซึ่งจะมีบางบริเวณเท่านั้นที่ขณะลงพื้นที่สำรวจมีแดดจัดทำให้อุณหภูมิน้ำสูงขึ้นมากถึง 34 องศาเซลเซียส
    สภาพการนำไฟฟ้านั้นมีความสัมพันธ์ในทิศทางเดียวกันกับความเข้มข้นของแร่ธาตุที่มีประจุอยู่ในมวลน้ำ โดยเฉพาะอนุภาคโซเดียมและแมกนีเซียมของเกลือจึงสามารถสะท้อนความเค็มของน้ำได้ ในพื้นที่หนองหารมีสภาพการนำไฟฟ้าอยู่ในช่วง 90.4 – 530.0 ไมโครซีเมนส์ต่อเซนติเมตรในเดือนมิถุนายน 2559, มีค่าในช่วง 64.3 – 181.6 ไมโครซีเมนส์ต่อเซนติเมตรในเดือนตุลาคม 2559, มีค่าในช่วง 94.3 – 231.0 ไมโครซีเมนส์ต่อเซนติเมตรในเดือนกุมภาพันธ์ 2560 และมีค่าในช่วง 11.5 – 256.1 ไมโครซีเมนส์ต่อเซนติเมตรในเดือนมิถุนายน 2560  ตามลำดับ  ซึ่งสภาพการนำไฟฟ้ามีความสัมพันธ์เชิงบวกกับระดับความเค็มของน้ำในแหล่งน้ำหนองหาร ซึ่งมีค่าระหว่าง 0.03 – 0.22 psu ในเดือนมิถุนายน 2559, มีค่า 0.03 – 0.08 psu ในเดือนตุลาคม 2559, มีค่า 0.04 – 0.11 psu ในเดือนกุมภาพันธ์ 2560 และมีค่า 0.02 – 0.11 psu ในเดือนมิถุนายน 2560 ตามลำดับ  ซึ่งถือว่าเป็นระดับความเค็มของแหล่งน้ำจืดตามปกติที่จะมีค่าความเค็มไม่เกิน 0.5 psu
    ความเป็นกรดเป็นด่างหรือ pH เป็นค่าที่บ่งชี้ถึงสภาวะความเป็นกรดหรือด่างของมวลน้ำ ระดับ pH ส่งผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตที่อยู่ในน้ำหากมีค่ามากหรือน้อยเกินไป ระดับที่เหมาะสมต่อสัตว์น้ำจะอยู่ที่ 6.5 – 9.0 ผลการศึกษาพบว่าค่าความเป็นกรดเป็นด่างส่วนใหญ่มีสภาพเป็นด่างอ่อนๆ โดยอยู่ในช่วง 8.09 – 9.35 ในเดือนมิถุนายน 2559, อยู่ในช่วง 8.21 – 8.87 ในเดือนตุลาคม 2559, อยู่ในช่วง 8.77 – 9.70 ในเดือนกุมภาพันธ์ 2560 และอยู่ในช่วง 6.26 – 7.49 ในเดือนมิถุนายน 2560 ตามลำดับ ซึ่งผลการศึกษาในเดือนตุลาคม 2559 เป็นไปตามมาตรฐานคุณภาพน้ำในแหล่งน้ำผิวดิน (กรมควบคุมมลพิษ, 2537) แต่ในเดือนมิถุนายน 2559 พบว่ามีค่าเกินมาตรฐานถึง 6 สถานี และเดือนกุมภาพันธ์ 2560 พบว่ามีค่าเกินมาตรฐานถึง 9 สถานี และมีความผันแปรของความเป็นกรดเป็นด่างในรอบวันค่อนข้างสูง สาเหตุที่เป็นเช่นนี้อาจเกิดจากค่าความเป็นด่าง (Alkalinity) ในน้ำมีค่าต่ำ โดยค่าความเป็นด่างถือเป็นตัวควบคุมความเป็นกรดเป็นด่างของน้ำไม่ให้เปลี่ยนแปลงมากในรอบวันซึ่งหากค่าความเป็นกรดเป็นด่างผันแปรมากแล้วสิ่งมีชีวิตในน้ำจะต้องปรับตัวอย่างมากและยังส่งผลกระทบต่อปัจจัยคุณภาพน้ำอื่นๆ อีกด้วย ขณะที่เดือนมิถุนายน 2560 ผลการศึกษาพบว่าค่าความเป็นกรดเป็นด่างอยู่ในช่วง 6.26-7.49 ซึ่งโดยส่วนใหญ่มีค่าเป็นกรดเล็กน้อย ซึ่งข้อมูลต่างจากเดือนอื่นๆ ค่อนข้างมาก ซึ่งค่าความเป็นกรดเป็นด่างที่ต่ำลงอาจเกิดจากคาร์บอนไดออกไซด์ในน้ำมีปริมาณมากขึ้นทำให้เกิดกรดคาร์บอนิกในมวลน้ำมากกว่าในช่วงการศึกษาอื่น รวมทั้งการที่ฝนได้ชะล้างเอาดินที่มีความเป็นกรดลงสู่หนองหาร อย่างไรก็ตามถือว่ายังอยู่ในระดับที่สิ่งมีชีวิตยังคงอาศัยอยู่ได้
    ปริมาณออกซิเจนละลายน้ำ ในพื้นที่ศึกษาทั้งหมด อยู่ในช่วง 1.26-6.17 มิลลิกรัมต่อลิตร ค่าเฉลี่ยมัธยฐาน 4.42 มิลลิกรัมต่อลิตร ในเดือนมิถุนายน 2559, อยู่ในช่วง 2.08-6.86 มิลลิกรัมต่อลิตร ค่าเฉลี่ยมัธยฐาน 5.40 มิลลิกรัมต่อลิตร ในเดือนตุลาคม 2559, อยู่ในช่วง 4.50-10.77 มิลลิกรัมต่อลิตร ค่าเฉลี่ยมัธยฐาน 7.83 มิลลิกรัมต่อลิตร ในเดือนกุมภาพันธ์ 2560 และอยู่ในช่วง 0.93-6.46 มิลลิกรัมต่อลิตร ค่าเฉลี่ยมัธยฐาน 2.38 มิลลิกรัมต่อลิตร ในเดือนมิถุนายน 2560 ตามลำดับ โดยเดือนกุมภาพันธ์ 2560 ถือว่าเป็นช่วงที่มีปริมาณออกซิเจนในน้ำโดยเฉลี่ยมากที่สุด จากการวิเคราะห์ทางสถิติพบว่ามีความแตกต่างจากเดือนอื่นอย่างมีนัยสำคัญ (P<0.05) เนื่องจากเดือนกุมภาพันธ์อยู่ในช่วงแล้ง ระดับน้ำน้อยกว่าเดือนอื่นๆ ลมพัดและมีแสงแดดตลอดช่วงกลางวัน ทำให้ออกซิเจนสามารถแพร่จากอากาศลงสู่ผิวน้ำได้ดี จากภาพรวมของผลการศึกษาพบว่าแหล่งน้ำหนองหารในช่วงเวลาที่ศึกษานี้ จัดอยู่ในแหล่งน้ำประเภทที่ 3 (เกณฑ์มาตรฐานแหล่งน้ำผิวดิน กรมควบคุมมลพิษ, 2537) แสดงถึง แหล่งน้ำที่ได้รับน้ำทิ้งจากกิจกรรมบางประเภท และสามารถเป็นประโยชน์เพื่อ 1) การอุปโภคและบริโภคโดยต้องผ่านการฆ่าเชื้อโรคตามปกติและผ่านกระบวนการปรับปรุงคุณภาพน้ำทั่วไปก่อน (2) การเกษตร เท่านั้น
    เดือนมิถุนายน 2560 ถือว่าเป็นช่วงที่มีปริมาณออกซิเจนละลายน้ำโดยเฉลี่ยต่ำมากที่สุด หลายสถานีศึกษามีออกซิเจนละลายอยู่ต่ำกว่า 1 มิลลิกรัมต่อลิตร ซึ่งถือว่าเป็นค่าที่อันตรายมากสำหรับสิ่งมีชีวิตทุกประเภท สาเหตุที่ทำให้ปริมาณออกซิเจนลดลงอย่างมากอาจเกิดจากในช่วงเดือนมิถุนายน 2560 มีฝนที่ตกมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เดือนเมษายนและพฤษภาคม ทำให้เกิดการชะล้างสารอินทรีย์ น้ำทิ้งจากครัวเรือน ชุมชน ภาคอุตสาหกรรมและภาคเกษตรกรรมลงสู่หนองหารตั้งแต่ช่วงเข้าต้นฤดูฝน รวมทั้งการที่น้ำค่อนข้างขุ่นจากการชะล้างของตะกอนจากลำน้ำสาขาและแหล่งระบายน้ำ รวมทั้งการฟุ้งของตะกอนพื้นท้องน้ำในเขตพื้นที่ตื้นเมื่อมีฝนตกหนัก ทำให้แพลงก์ตอนพืชและพรรณไม้น้ำไม่สามารถสังเคราะห์ด้วยแสงและผลิตออกซิเจนออกมาได้
    พื้นที่ที่มีปริมาณออกซิเจนละลายน้ำต่ำมากในหลายช่วงเวลาของการศึกษา ได้แก่ สถานี NH2 และสถานี NH4 ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของหนองหาร ซึ่งค่าที่ตรวจวัดได้นี้ต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐานคุณภาพน้ำที่เหมาะสมต่อการดำรงชีวิตของสัตว์น้ำ (สถาบันประมงน้ำจืดแห่งชาติ, 2530) ซึ่งกำหนดไว้ไม่ให้ต่ำกว่า 3 มิลลิกรัมต่อลิตร ลักษณะที่พบในพื้นที่ศึกษา 2 สถานีได้แก่น้ำที่มีน้ำตาลอมเขียวและเกิดฟองก๊าซหนืด แตกตัวยาก ซึ่งแสดงถึงการมีปริมาณออกซิเจนละลายในน้ำต่ำ (ภาพที่ 15) ซึ่งสาเหตุอาจเกิดจากการทับถมของซากสารอินทรีย์และพรรณไม้น้ำปริมาณมากและตะกอนฟุ้งกระจายจากพื้นท้องน้ำได้ง่ายในเขตที่มีน้ำตื้น ทำให้ออกซิเจนลดต่ำลงมาก
ลักษณะของมวลน้ำที่มีสีน้ำตาล เกิดฟองก๊าซหนืด แสดงถึงปัญหาออกซิเจนละลายน้ำที่ต่ำมาก ในสถานี NH2 เดือนมิถุนายน 2559

การศึกษาคุณภาพน้ำเฉพาะทาง

ปริมาณความเข้มข้นของคลอโรฟิลล์ เอ

    คลอโรฟิลล์ เอ เป็นรงควัตถุสีเขียวที่ใช้ในกระบวนการสังเคราะห์ด้วยแสงโดยพบในแพลงก์ตอนพืช พรรณไม้และสาหร่ายในน้ำ โดยปริมาณคลอโรฟิลล์ เอ สามารถเป็นดัชนีชี้วัดกำลังผลิตขั้นต้นและปริมาณของแพลงก์ตอนพืชในแหล่งน้ำได้

 

    การจำแนกประเภทของแหล่งน้ำตามระดับคลอโรฟิลล์ เอ แบ่งออกเป็น 3 ประเภทตามการจัดจำแนกของ Niles et al. (1996) ได้แก่ 1) Oligotrophic waters หมายถึง แหล่งน้ำที่มีความอุดมสมบูรณ์น้อย พบปริมาณคลอโรฟิลล์ เอ น้อยกว่า 4.7 ไมโครกรัมต่อลิตร 2) Mesotrophic waters หมายถึง แหล่งน้ำที่มีความอุดมสมบูรณ์ปานกลาง พบปริมาณคลอโรฟิลล์ เอ มีค่าอยู่ระหว่าง 4.7 – 14.3 ไมโครกรัมต่อลิตรและ 3) Eutrophic waters หมายถึง แหล่งน้ำที่มีความอุดมสมบูรณ์มาก พบปริมาณคลอโรฟิลล์ก เอ มากกว่า 14.3 ไมโครกรัมต่อลิตร

 

    การวิเคราะห์ปริมาณของคลอโรฟิลล์ เอ ในพื้นที่ศึกษาหนองหาร เดือนมิถุนายน เดือนตุลาคม 2559 เดือนกุมภาพันธ์ 2560 และเดือนมิถุนายน 2560 ได้ผลการศึกษาดังภาพด้านล่าง
ปริมาณคลอโรฟิลล์ เอ ในน้ำ พื้นที่ศึกษาหนองหาร ในเดือนมิถุนายน 2559 เดือนตุลาคม 2559 เดือนกุมภาพันธ์ 2560 และเดือนมิถุนายน 2560
    ปริมาณคลอโรฟิลล์ เอ ในน้ำ ในพื้นที่ศึกษาทั้งหมด อยู่ในช่วง 4.60 – 36.58 ไมโครกรัมต่อลิตร ค่าเฉลี่ยมัธยฐาน 12.38 ไมโครกรัมต่อลิตร ในเดือนมิถุนายน 2559, อยู่ในช่วง 2.00 – 13.35 ไมโครกรัมต่อลิตร ค่าเฉลี่ยมัธยฐาน 7.15 ไมโครกรัมต่อลิตร ในเดือนตุลาคม 2559, อยู่ในช่วง 0.95 – 7.19 ไมโครกรัมต่อลิตร ค่าเฉลี่ยมัธยฐาน 2.67 ไมโครกรัมต่อลิตร ในเดือนกุมภาพันธ์ 2560 และอยู่ในช่วง 1.34 – 26.70 ไมโครกรัมต่อลิตร ค่าเฉลี่ยมัธยฐาน 7.63 ไมโครกรัมต่อลิตร ในเดือนมิถุนายน 2560 ตามลำดับ ซึ่งเห็นได้ว่าในเดือนมิถุนายน 2559 มีปริมาณคลอโรฟิลล์ เอ สูงที่สุด และเดือนกุมภาพันธ์ 2560 มีปริมาณคลอโรฟิลล์ เอ ต่ำที่สุด

 

    ผลการศึกษาที่ได้สะท้อนถึงสถานภาพแหล่งน้ำในระดับ Mesotrophic level ซึ่งมีความอุดมสมบูรณ์ปานกลาง อย่างไรก็ตามมีหลายสถานีที่ปริมาณคลอโรฟิลล์ เอ อยู่ในระดับ Eutrophic level แสดงให้เห็นว่าการมีพรรณไม้น้ำขึ้นอยู่อย่างหนาแน่นส่งผลให้เกิดกำลังผลิตขั้นต้นในระดับสูงซึ่งเป็นจุดเริ่มในการสร้างความอุดมสมบูรณ์ของระบบนิเวศแหล่งน้ำได้เป็นอย่างดี ซึ่งต้องพิจารณาร่วมกับความหนาแน่นของแพลงก์ตอนพืช ซึ่งเป็นแหล่งของคลอโรฟิลล์ เอ หลักในแหล่งน้ำอีกปัจจัยหนึ่งต่อไป

ปริมาณของแข็งแขวนลอยรวมในน้ำ (Total suspended solids)

    ของแข็งแขวนลอยซึ่งเป็นอนุภาคขนาดเล็กจะลอยกระจายอยู่ในน้ำ โดยอนุภาคเหล่านี้เป็นสาเหตุทำให้น้ำมีสีและขุ่น ซึ่งส่งผลต่อปริมาณแสงที่ส่องลงมาสู่มวลน้ำ และส่งผลกระทบต่อสัตว์น้ำโดยขัดขวางระบบแลกเปลี่ยนก๊าซหรือทำให้สัตว์เจริญเติบโตช้า แต่ความขุ่นสามารถช่วยในการหลบซ่อนศัตรูของสัตว์น้ำขนาดเล็กได้ ผลการวิเคราะห์ปริมาณของแข็งแขวนลอยรวมในน้ำดังภาพด้านล่าง

ปริมาณของแข็งแขวนลอยรวมในน้ำ พื้นที่ศึกษาหนองหาร ในเดือนมิถุนายน 2559 เดือนตุลาคม 2559 เดือนกุมภาพันธ์ 2560 และเดือนมิถุนายน  2560

    ปริมาณของแข็งแขวนลอยรวมในน้ำ ในพื้นที่ศึกษาทั้งหมด อยู่ในช่วง 0.14-46.80 มิลลิกรัมต่อลิตร ค่าเฉลี่ยมัธยฐาน 1.49 มิลลิกรัมต่อลิตร ในเดือนมิถุนายน 2559, อยู่ในช่วง 0.38-27.69 มิลลิกรัมต่อลิตร ค่าเฉลี่ยมัธยฐาน 3.14 มิลลิกรัมต่อลิตร ในเดือนตุลาคม 2559, อยู่ในช่วง 1.24-13.25 มิลลิกรัมต่อลิตร ค่าเฉลี่ยมัธยฐาน 2.95 มิลลิกรัมต่อลิตร ในเดือนกุมภาพันธ์ 2560 และอยู่ในช่วง 0.86-72.00 มิลลิกรัมต่อลิตร ค่าเฉลี่ยมัธยฐาน 20.21 มิลลิกรัมต่อลิตร ในเดือนมิถุนายน 2560 ตามลำดับ ผลการศึกษาสะท้อนให้เห็นว่าหนองหารเป็นแหล่งน้ำที่มีน้ำใสมาก โดยมีสารแขวนลอยอยู่ในน้ำปริมาณน้อยมากจึงทำให้ความขุ่นต่ำไปด้วย สอดคล้องกับค่าความโปร่งแสงของน้ำที่วัดโดยจานวัดค่าความโปร่งแสง ช่วงเดือนที่มีปริมาณของแข็งแขวนลอยรวมมากที่สุดและมีค่าสูงในหลายๆ สถานี ได้แก่เดือนมิถุนายน 2560 โดยมีความแตกต่างจากเดือนสำรวจอื่นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (P<0.05) ซึ่งในเดือนมิถุนายน 2560 ถือว่าเข้าสู่ฤดูฝนเร็วกว่าในช่วงเวลาเดียวกันของปี 2559 แรงจากลมฝนและน้ำที่หลากลงสู่หนองหารติดต่อกันทำให้พื้นที่ตื้นมีการฟุ้งกระจายของตะกอน

    เมื่อพิจารณาเชิงพื้นที่พบว่าโดยส่วนมากแล้วสถานีศึกษาจะมีระดับความโปร่งแสงที่แสงสามารถส่องถึงพื้นน้ำได้ อย่างไรก็ตาม พบว่าในบางสถานีมีปริมาณของแข็งแขวนลอยที่สูงอย่างชัดเจน เนื่องจากพื้นที่เหล่านั้นได้รับอิทธิพลจากการรบกวนพื้นท้องน้ำให้เกิดการฟุ้งกระจายของตะกอน เช่น สถานี NH1 และสถานี NH4 ในเดือนมิถุนายน 2559 ซึ่งมีการขุดลอกร่องน้ำในช่วงเวลาดังกล่าว นอกจากนี้ยังเกิดจากการมีตะกอนดินโคลนฟุ้งกระจายในบริเวณตื้นชายฝั่งเช่นในสถานี NH2 ในส่วนของสถานี NH11 ซึ่งเป็นทางน้ำไหลออกจากลำน้ำพุง ซึ่งมีน้ำหลากลงมาจากแผ่นดินได้ชะล้างตะกอนลงมาทำให้เกิดน้ำขุ่นขึ้นได้ตลอดทั้งปี

    ปัจจัยหนึ่งที่ช่วยให้แหล่งน้ำหนองหารใสและมีความโปร่งแสงมากคือพรรณไม้น้ำปริมาณมากในพื้นที่ ซึ่งสามารถดักกรองตะกอนแขวนลอยได้อย่างชัดเจน โดยสังเกตได้จากลำต้นของพรรณไม้น้ำซึ่งมักมีตะกอนสีน้ำตาลซึ่งเป็นสารอินทรีย์เกาะอยู่ทั่วทั้งลำต้น อย่างไรก็ตามตะกอนเหล่านี้อาจทำให้ประสิทธิภาพในสังเคราะห์ด้วยแสงของพรรณไม้น้ำลดลงเพราะการจับตัวของตะกอนบนพืชน้ำจะบดบังแสงที่ส่องลงมาได้

การศึกษาคุณภาพน้ำเพื่อการใช้ประโยชน์

รายชื่อและพิกัดสถานีเก็บตัวอย่างน้ำในหนองหาร

คุณภาพสำหรับการป้องกันสุขภาพมนุษย์โดยมุ่งเน้นความสามารถในการรับของมนุษย์

Water Quality Index for the Protection of Human Health with a focus on Human Acceptability (WQIha) ปี 2559

 

น้ำเสียมากหรือน้อย นำไปใช้อุปโภคบริโภคได้หรือไม่

    จากการประเมินคุณภาพน้ำตามดัชนีคุณภาพสำหรับการป้องกันสุขภาพมนุษย์โดยมุ่งเน้นความสามารถในการรับของมนุษย์ ทั้ง 10 จุดในหนองหาร พบว่า น้ำในหนองหารมีคุณภาพระดับปานกลางถึงดีมากสำหรับการป้องกันสุขภาพมนุษย์โดยมุ่งเน้นความสามารถในการรับของมนุษย์ ซึ่งหมายถึงคุณภาพน้ำไม่ได้มาตรฐานตามที่กำหนดน้อยมากในบางแห่ง และได้คุณภาพน้ำได้ตามมาตรฐานที่กำหนดบางครั้งและตลอดเวลา ซึ่งสถานีที่มีคุณภาพน้ำระดับปานกลาง (Class C) ได้แก่ NHK01 (บริเวณจุดสูบน้ำประปา การประปาส่วนภูมิภาค จังหวัดสกลนคร) NHK02 (บริเวณตำบลธาตุนาเวง อำเภอเมือง จังหวัดสกลนคร) NHK03 (บริเวณตำบลฮางโฮง อำเภอเมือง จังหวัดสกลนคร) NHK04 บริเวณตำบลเชียงเครือ อำเภอเมือง จังหวัดสกลนคร และ NHK06 (บริเวณตำบลบ้านแป้น อำเภอโพนนาแก้ว จังหวัดสกลนคร) ซึ่งสถานีเหล่านี้พบค่าซีโอดีค่อนข้างสูงเนื่องจากมีปริมาณสารอินทรีย์ที่ย่อยสลายยาก ซึ่งเกิดจากการย่อยสลายซากพื้นซากสัตว์ที่มีอยู่ในน้ำและน้ำเสียจากชุมชน สถานีที่มีคุณภาพน้ำระดับดี (Class B) ได้แก่ NHK05 (บริเวณจุดสูบน้ำโรงประปา เทศบาลตำบลท่าแร่ อำเภอเมือง จังหวัดสกลนคร) NHK07 (บริเวณบ้านท่าศาลา/บ้านจอมแจ้ง ตำบลบ้านแป้น อำเภอโพนนาแก้ว จังหวัดสกลนคร) NHK08 (บริเวณตำบลนาตงวัฒนา อำเภอโพนนาแก้ว จังหวัดสกลนคร) และ NHK10 (บริเวณตำบลงิ้วด่อน อำเภอเมือง จังหวัดสกลนคร) และสถานีที่มีคุณภาพน้ำระดับดีมาก (Class A) ได้แก่ NHK09 (บริเวณตำบลเหล่าปอแดง อำเภอเมือง จังหวัดสกลนคร)

 

    ในการวิเคราะห์คุณภาพน้ำตามลำห้วยที่ไหลลงสู่หนองหารและไหลออกจากหนองหารตามดัชนีคุณภาพสำหรับการป้องกันสุขภาพมนุษย์โดยมุ่งเน้นความสามารถในการรับของมนุษย์ทั้ง 8 ลำห้วย พบว่า มีคุณภาพระดับไม่ดีถึงดีสำหรับการป้องกันสุขภาพมนุษย์โดยมุ่งเน้นความสามารถในการรับของมนุษย์ซึ่งส่วนใหญ่จะมีคุณภาพระดับปานกลาง(Class C) เนื่องจากมีค่าซีโอดีค่อนข้างสูงทุกลำห้วย ทั้งนี้สถานีเก็บน้ำ BNH05 (ลำน้ำก่ำ ตำบลม่วงลาย อำเภอเมือง จังหวัดสกลนคร) ซึ่งเป็นลำน้ำหลักที่ไหลออกจากหนองหาร และ BNH06 (ลำน้ำพุง ตำบลเหล่าปอแดง อำเภอเมือง สกลนคร) ซึ่งเป็นลำน้ำหลักที่ไหลเข้าสู่หนองหารมมีคุณภาพดี (Class B)

คุณภาพน้ำสำหรับการป้องกันสิ่งมีชีวิตในน้ำ

Water Quality index for the protection of aquatic life (WQIal) ปี 2559

 

น้ำเหมาะกับการทำประมงหรือเลี้ยงสัตว์น้ำหรือไม่

    ในการวิเคราะห์คุณภาพน้ำโดยใช้ดัชนีคุณภาพน้ำสำหรับการป้องกันสิ่งมีชีวิตในน้ำ พบว่า น้ำในหนองหารมีคุณภาพพอใช้ถึงดีสำหรับการป้องกันสิ่งมีชีวิตในน้ำทั้งนี้โดยส่วนใหญ่คุณภาพน้ำในหนองหารสำหรับการป้องกันสิ่งมีชีวิตในน้ำมีคุณภาพปานกลาง (Class C) โดยสถานีเก็บน้ำที่มีคุณภาพน้ำระดับปานกลาง (Class C) ได้แก่ NHK01 (บริเวณจุดสูบน้ำประปา การประปาส่วนภูมิภาค จังหวัดสกลนคร) NHK04(บริเวณตำบลเชียงเครือ  อำเภอเมือง จังหวัดสกลนคร) NHK05 (จุดสูบน้ำโรงประปา เทศบาลตำบลท่าแร่ อำเภอเมืองจังหวัดสกลนคร) NHK07 (บริเวณบ้านท่าศาลา/บ้านจอมแจ้ง ตำบลบ้านแป้น อำเภอโพนนาแก้ว จังหวัดสกลนคร) NHK09 (บริเวณตำบลเหล่าปอแดง อำเภอเมือง จังหวัดสกลนคร) และ NHK10 (บริเวณตำบลงิ้วด่อน อำเภอเมือง จังหวัดสกลนคร) ทั้งนี้คุณภาพน้ำระดับดี (Class B) สำหรับการดำรงชีวิตของสิ่งมีชีวิตในน้ำ ได้แก่ NHK02 (บริเวณตำบลธาตุนาเวง อำเภอเมือง จังหวัดสกลนคร) NHK03 (บริเวณตำบลฮางโฮง อำเภอเมือง จังหวัดสกลนคร) NHK06 (บริเวณตำบลบ้านแป้น อำเภอโพนนาแก้ว จังหวัดสกลนคร) และ NHK08 (บริเวณตำบลนาตงวัฒนา อำเภอโพนนาแก้ว จังหวัดสกลนคร)จะเห็นได้ว่า คุณภาพน้ำในหนองหารยังเหมาะสมสำหรับการดำชีวิตของสัตว์น้ำอยู่บางแห่ง ทั้งนี้บริเวณที่คุณภาพน้ำที่อยู่ในระดับพอใช้ควรมีการพิจารณาถึงการกำจัดธาตุอาหาร โดยเฉพาะแอมโมเนียไนโตรเจน ซึ่งมีพิษต่อสัตว์น้ำ

 

    สำหรับการวิเคราะห์คุณภาพน้ำตามดัชนีคุณภาพน้ำสำหรับการป้องกันสิ่งมีชีวิตในน้ำ ในห้วยสาขาทั้ง 8 จุด พบว่า มีคุณภาพระดับดีถึงดีมาก ซึ่งลำห้วยที่มีคุณภาพน้ำระดับไม่ดี (Class D) ได้แก่ BNH01 (ห้วยสมอ ตำบลธาตุนาเวง อำเภอเมือง จังหวัดสกลนคร) ซึ่งพบว่า มีปริมาณออกซิเจนละลายต่ำและ แอมโนเนียไนโตรเจนและไนเตรทสูง เนื่องจากห้วยสมอ เป็นห้วยที่รับน้ำเสียจากชุมชนเมืองธาตุนาเวงไหลลงสู่หนองหาร ซึ่งไม่ผ่านการบำบัดน้ำเสีย ห้วยที่มีคุณภาพน้ำระดับปานกลาง (Class C) สำหรับการป้องกันสิ่งมีชีวิตในน้ำ ได้แก่ BNH03 (ห้วยทุ่งแร่ ตำบลท่าแร่ อำเภอเมือง จังหวัดสกลนคร)และ BNH08 (น้ำเข้าระบบปรับปรุงคุณภาพน้ำเทศบาลนครสกลนคร อำเภอเมือง สกลนคร) โดยส่วนใหญ่ลำห้วยน้ำไหลลงสู่หนองหารมีคุณภาพน้ำระดับดีสำหรับการป้องกันสิ่งมีชีวิตในน้ำห้วยที่มีคุณภาพน้ำระดับดี (Class B) สำหรับการป้องกันสิ่งมีชีวิตในน้ำได้แก่ BNH02 (ห้วยลาก ตำบลเชียงเครือ อำเภอเมือง จังหวัดสกลนคร) BHN04 (ห้วยลอง ตำบลนาแก้ว อำเภอโพนนาแก้ว จังหวัดสกลนคร) BNH07 (ห้วยเดียก ตำบลงิ้วด่อน อำเภอเมือง จังหวัดสกลนคร) ทั้งนี้ห้วยที่มีคุณภาพน้ำระดับดีมาก (Class A) สำหรับการป้องกันสิ่งมีชีวิตในน้ำ ได้แก่ BNH05 (ลำน้ำก่ำ ตำบลม่วงลาย อำเภอเมือง จังหวัดสกลนคร) ซึ่งเป็นลำห้วยที่ไหลออกจากหนองหาร และ BNH06 (ลำน้ำพุง ตำบลเหล่าปอแดง อำเภอเมือง สกลนคร) ซึ่งเป็นลำน้ำหลักที่ไหลเข้าสู่หนองหารคุณภาพน้ำสำหรับป้องกันสิ่งมีชีวิตในน้ำในลำห้วยโดยรวม ถือว่าอยู่ในระดับปานกลางและดี สามารถใช้ในการเลี้ยงสัตว์น้ำ หรือทำประมงได้ ซึ่งจะเห็นได้ว่า ห้วยสมอ มีคุณภาพน้ำในระดับที่ไม่ดี จึงควรพิจารณาให้มีการบำบัดน้ำเสียตามชุมชนต่างๆ ก่อนปล่อยลงสู่ลำห้วย

วิเคราะห์ดัชนีคุณภาพน้ำในการใช้ประโยชน์ในการเกษตร

Water Quality index for agricultural use (WQIag) ปี 2559


น้ำนำไปใช้ประโยชน์ในการเกษตรได้หรือไม่

    การวิเคราะห์ดัชนีการวิเคราะห์คุณภาพน้ำเพื่อการเกษตรแบ่งเป็น 2 ประเภท ได้แก่ ดัชนีคุณภาพน้ำเพื่อชลประทานทั่วไป ดัชนีคุณภาพน้ำเพื่อการชลประทานสำหรับทำนา ในการวิเคราะห์คุณภาพน้ำสำหรับดัชนีคุณภาพน้ำสำหรับการเกษตรพบว่า ดัชนีคุณภาพน้ำเพื่อชลประทานทั่วไปทั้ง 10 จุดในหนองหาร พบว่า มีคุณภาพดีมาก (Class A) ซึ่งหมายถึงน้ำในหนองหารเหมาะสำหรับการชลประทานและการใช้ในการทำนาสำหรับการวิเคราะห์คุณภาพน้ำในลำห้วยตาม ดัชนีคุณภาพน้ำในการใช้ประโยชน์ในการเกษตรทั้ง 8 ลำห้วยพบว่า ดัชนีคุณภาพน้ำเพื่อการเกษตรทั้ง 8 ลำห้วยอยู่ในระดับดี (Class A) เช่นกัน